การตรวจสอบรอยร้าวของโครงสร้างคอนกรีต [EP.1]

0
การตรวจสอบรอยร้าว1

สวัสดีค่ะ วันนี้ขอนำเสนอความรู้ที่อยู่ใกล้ตัวเรานั้นก็คือ “รอยร้าว” นั่นเองค่ะ ในที่นี้จะพูดถึงรอยร้าวของโครงสร้างคอนกรีต เนื่องจากพี่ๆทุกคนก็มีบ้านอาศัย ทุกคนต่างรัก และหวงแหนบ้าน อยากดูแลบ้านของตนให้ดีที่สุด จึงเป็นความรู้พื้นฐานที่ควรทราบเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขต่อไปค่ะ

ประเภทรอยร้าวจะบ่งชี้ถึงสภาพความมั่นคง ความแข็งแรงของโครงสร้าง โดยลักษณะของรอยร้าวนั้นจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน รูปแบบและลักษณะของรอยร้าวจึงเป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก เพื่อวิเคราะห์สาเหตุได้อย่างถูกต้องก่อนที่จะทำการแก้ไขค่ะ

สาเหตุรอยร้าวของโครงสร้างคอนกรีต แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

ใน EP.1 นี้จะกล่าวถึงรอยร้าวของ 2 ประเภทแรกก่อนนะคะ ซึ่งได้แก่ 1.รอยร้าวเกิดจากคุณภาพวัสดุและฝีมือการทำงานที่ไม่ดี และ 2.รอยร้าวเกิดจากเสื่อมสภาพของวัสดุ

1. รอยร้าวโครงสร้างคอนกรีตเกิดจากคุณภาพวัสดุและฝีมือการทำงานที่ไม่ดี

การเลือกใช้วัสดุคุณภาพไม่ดี ทักษะการทำงานที่ขาดความรู้ ประสบการณ์ หรือไม่ใส่ใจในรายละเอียด

1.1 รอยแตกที่ผนังก่ออิฐ

– รอยแตกลายงา

ลักษณะคล้ายแผนที่

สาเหตุ ได้แก่ ตอนฉาบปูนไม่ได้พรมน้ำผนังอิฐก่อให้ชุ่มก่อน ทำให้อิฐก่อดูดซับน้ำมากจนทำให้ปูนฉาบสูญเสียน้ำและเกิดรอยร้าว หรือหลังจากฉาบปูนแล้วไม่พรมน้ำเลี้ยงให้เพียงพอผิวฉาบจึงสูญเสียน้ำจากลมและแดด รอยแตกประเภทนี้ไม่เกิดอันตรายกับตัวโครงสร้าง จะมีผลแค่ด้านความสวยงามบนผนัง

วิธีแก้ไข พรมน้ำให้ชุ่มหรือเพียงพอเพื่อป้องกันการเกิดรอยแตก หรือถ้าเกิดรอยแตกและให้ทำการสกัดและฉาบปูนใหม่

– รอยแตกที่มุมวงกบ

เกิดที่มุมใดมุมหนึ่งหรือหลายมุม เป็นรอยเฉียงออกจากมุมของวงกบ รอยแตกจากกว้างมากที่มุมและค่อยๆเล็กลงเมื่อห่างออกจากมุม ความยาวรอยร้าวจะไม่เกิน 30 ซม.

สาเหตุ ความแตกต่างของวัสดุวงกบกับผนังอิฐ ก่อให้เกิดการยืดหรือหดตัวที่แตกต่างเป็นผลให้เกิดรอยร้าว

วิธีแก้ไข ควรทำคานทับหลังและเสาเอ็นเมื่อมีช่องเปิด

– รอยแตกที่ขอบผนังชิดเสา

สาเหตุ ปูนก่อและปูนฉาบหดตัวทำให้เกิดรอยแยกจากเสา ไม่มีเหล็กเสียบจากเสาเพื่อยึดผนัง ไม่ได้เสียบเหล็กหนวดกุ้ง หรือระยะห่างเหล็กหนวดกุ้งมากเกินไป

วิธีแก้ไข เพิ่มหรือใส่เหล็กหนวดกุ้งเพื่อยึดผนัง

1.2 รอยแตกที่คานของโครงสร้างคอนกรีต

– รอยแตกลายงาที่กลางคาน

อาจเกิดที่ปลายคานด้านใดด้านหนึ่งหรือกลางคาน

สาเหตุ เกิดจากการสูญเสียน้ำของคอนกรีตขณะที่แข็งตัว โดยผิวหน้าคอนกรีตบริเวณนั้นสูญเสียน้ำมากกว่าบริเวณอื่น

– รอยแตกเป็นรูพรุนที่ใต้ท้องคานหรือด้านข้างคาน

อาจเกิดที่ปลายคานด้านใดด้านหนึ่งหรือกลางคานคาน ผิวหน้าคอนกรีตอาจเป็นรูพรุนที่มีคามต่อเนื่องจนอาจเห็นรอยแตกกว้างเส้นเดียวบางตำแหน่งมองเห็นเม็ดหิน

สาเหตุ เกิดจากแบบหล่อคอนกรีตปิดไม่สนิท คอนกรีตเหลวมากเกินไป ทำให้น้ำปูนไหลออกจากแบบหล่อ เกิดเป็นรูพรุนา

1.3 รอยแตกที่พื้น

– รอยแตกลายงาที่ผิวพื้น

จะพบรอยแตกลายงาที่ผิวพื้น มีลักษณะเป็นรูปแผนที่ที่แตกกระจายไปทั่ว รอยแตกที่ผิวนั้นจะไม่ลงลึกในเนื้อของพื้น

สาเหตุ ผิวหน้าคอนกรีตถูกลมหรือแดดเผาจนสูญเสียน้ำไปมาก ทำให้แห้งและเกิดแรงดึงที่ผิวมากกว่าบริเวณอื่น

– รอยแตกที่ผิวด้านบนขนานเหล็กเสริม

รอยแตกเป็นเส้นยาวขนานกับตำแหน่งขอเหล็กเสริมบน ซึ่งเหล็กเสริมบนของพื้นอยู่บริเวณขอบใกล้คาน

สาเหตุ คอนกรีตเหลวมากทำให้เกิดการไหลและมวลรวมหยาบตกตะกอน มวลรวมหยาบที่อยู่ใกล้หรือเหนือเหล็กเสริมจะตกตะกอนได้ช้า และอาจถูกกั้นขวางด้วยเหล็กเสริมจนทำให้เกิดแรงดึงรั้งตามแนวของเหล็กเสริมจึงเกิดรอยร้าวดังกล่าว

1.4 รอยแตกร้าวที่เสา

รอยแตกคล้ายกับคาน เกิดจากการเข้าแบบหล่อไม่ดี เทคอนกรีตไม่ต่อเนื่อง รวมถึงการบ่มคอนกรีตไม่ดี พบเห็นรอยแตกเป็นลายงาและรูพรุน เนื่องจากน้ำปูนไหลออกขณะที่คอนกรีตยังไม่แข็งตัว

2. รอยร้าวเกิดจากเสื่อมสภาพของวัสดุ

วัสดุที่ประกอบเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก คือ คอนกรีตและเหล็กเสริม เมื่อเวลาผ่านไปโดยที่ไม่ทำการบำรุงรักษา วัสดุก็ย่อมมีการเสื่อมสภาพลง หรือวัสดุที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้น สารเคมี อุณหภูมิที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะทำให้วัสดุเสื่อมสภาพได้  เช่น ผิวคอนกรีตมีสภาพเป็นขุย, รอยร้าวลักษณะคล้ายลายงา, รอยร้าวที่ยาวและลงลึกในเนื้อคอนกรีตแต่ไม่ลึกถึงแกนกลางของโครงสร้าง สาเหตุมาจากเหล็กเสริมเป็นสนิมและบวมตัว ดันจนคอนกรีตส่วนที่เป็นผิวแตกหรือที่เรียกว่า การกระเทาะของคอนกรีต

2.1 พื้น

เหล็กเสริมในพื้นส่วนใหญ่จะอยู่ด้านล่าง จึงทำให้พบเห็นรอยแตกใต้ท้องพื้นเป็นส่วนมาก รอบแตกมีลักษณะเป็นเส้นๆขนานกับความยาวเหล็ก เมื่อทิ้งระยะเวลานานสนิมเหล็กจะลุกลาม รอยแตกยาวมากขึ้น ในที่สุดบริเวณท้องพื้นคอนกรีตที่ปิดผิวด้านล่างหลุดมาเป็นแผง โดยเฉพาะพื้นชั้นดาดฟ้าจะเกิดรอยแตกประเภทนี้มากที่สุด แดดและฝนทำให้พื้นชั้นเกิดการการยืดหดตัวมากกว่าพื้นชั้นอื่นๆ เพราะน้ำฝนจะไหลซึมลงผ่านรอยแตกร้าวไปสัมผัสเหล็ก ทำให้เหล็กเป็นสนิมและลุกลามเรื่อยๆ

2.2 คาน

รอยแตกที่เกิดจากสนิมเหล็กจะพบที่ใต้ท้องคาน เพราะเหล็กเสริมนั้นจะอยู่ตามมุมของคาน รอยแตกจะมีลักษณะขนานกับเหล็กเสริม บางครั้งก็อาจพบแนวดิ่งเป็นปล้องๆ ตรงตำแหน่งของเหล็กปลอก ซึ่งกรณีนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่มีความหนาของคอนกรีตปกคลุมน้อย เหล็กเสริมนั้นจะมีโอกาสสัมผัสความขื้นมากกว่าบริเวณอื่น

2.3 เสา

– เสาตามริมสวน เสาตามห้องน้ำ

มักจะโดนน้ำอยู่เสมอ โอกาสที่เกิดรอยแตกจากเหล็กที่เป็นสนิมจะมากกว่าตำแหน่งอื่น ทั้งนี้เสาตอม่อละเสาชั้นล่างก็จะมีโอกาสเกิดมากกว่าบริเวณอื่นเช่นกัน เนื่องจากอากาศไม่ถ่ายเท

รอยแตกที่เสาลักษณะจะเป็นเส้นยาวในแนวดิ่งตามบริเวณมุมหรือขอบของเสา และจะเกิดขึ้นที่โคนล่างมากกว่า เพราะความชื้นจะเกิดจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน

รอยร้าวที่ขอบเสา
รอยร้าวที่ขอบเสา

ใน EP.1 นี้ขอจบเนื้อหาเพียงเท่านี้ก่อน แล้วมาติดตามกันต่อใน EP.2 กับสาเหตุรอยร้าวอีก 2 ประเภทที่เหลืออยู่ด้วยกันนะคะ

ขอขอบคุณเนื้อหาแหล่งที่มา “บทความพิเศษ รอยร้าว…สัญญาณเตือนภัย”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่