GC จับมือ MHI ร่วมศึกษาการใช้ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และเทคโนโลยี CCS เพื่อพัฒนาโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

0
GC จับมือ MHI ร่วมศึกษาการใช้ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และเทคโนโลยี CCS เพื่อพัฒนาโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
GC จับมือ MHI ร่วมศึกษาการใช้ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และเทคโนโลยี CCS เพื่อพัฒนาโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

ระยอง 28 พฤศจิกายน 2566 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จับมือ ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท มิตซูบิชิ ฮีวี่ อินดัสทรี เอเชียแปซิฟิก จำกัด หรือ MHI-AP เพื่อร่วมศึกษาเทคโนโลยีการพัฒนาโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ (Petrochemical Complex) ก้าวสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่าง GC และ MHI-AP ในครั้งนี้ ครอบคลุมการศึกษาการใช้ไฮโดรคาร์บอนและแอมโมเนีย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีระดับคาร์บอนต่ำ และเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนของ GC เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20% ภายในปี พ.ศ. 2573 และการมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 

การลงนามความร่วมมือศึกษาเทคโนโลยีการพัฒนาโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่นี้ ครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี มี 2 เป้าหมายหลักเพื่อการศึกษา ได้แก่ การศึกษาเพื่อเปรียบเทียบความเป็นไปได้ในการใช้ไฮโดรเจน และแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกังหันแก๊ส (Gas Turbine) และเทคโนโลยีการดักจับและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในกระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและการศึกษาหาแนวทางการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบดักจับและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหมาะสมสำหรับกระบวนการผลิตไฮโดรเจน หรือ Steam Methane Reforming (SMR) ซึ่ง MHI-AP จะสนับสนุนในส่วนของนวัตกรรมและเทคโนโลยี CCS กังหันแก๊สที่ใช้การเผาไหม้โดยใช้ไฮโดรเจน และกังหันแก๊สที่ใช้การเผาไหม้โดยใช้แอมโมเนีย

ตามที่ ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของ GC ตามแผนการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่นยืนไปพร้อมกับพันธมิตร ภายใต้แนวคิด “Together To Net Zero” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20% ภายในปีพ.ศ. 2573 และการมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593

คุณทศพร บุณยพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีขั้นต้น และ ขั้นกลาง GC กล่าวว่า GC ดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์ 3 Steps Plus ได้แก่ Step Change ยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน Step Out แสวงหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่ หรือในต่างประเทศ Step Up มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน พร้อมมุ่งสู่การเป็น Net Zero Company และหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การศึกษาหาแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนา รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ภายในกระบวนการผลิต เช่น การนำไฮโดรเจน/แอมโมเนีย เข้ามาเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero)

Mr. Osamu Ono กรรมการผู้จัดการ MHI-AP กล่าวว่า เชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนต่ำเช่น ไฮโดรเจน/แอมโมเนีย, รวมทั้งเทคโนโลยี CCS มีศักยภาพมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงสร้างพลังงานที่มีอยู่แล้ว MHI-AP รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นพันธมิตรกับ GC เพื่อศึกษาความสามารถในการนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของเราในด้านเหล่านี้มาใช้ลดการปล่อยคาร์บอนฯ จากทรัพย์สินทางธุรกิจที่มีอยู่ อีกทั้งพร้อมสนับสนุนการสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจตามหลักคาร์บอน-นิวทรัลในประเทศไทย

ความร่วมมือระหว่าง GC และ MHI-AP ในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของสองบริษัท เพื่อแสดงจุดยืนแห่งความร่วมมือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับอีกหลาย ๆ บริษัทชั้นนำทั่วโลก เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน

#GC #ดีขึ้นเพื่อคุณดีขึ้นเพื่อโลก #GCChemistryForBetterLiving #BetterForYouBetterForOurWorld 
#MHI-AP #เทคโนโลยีไฮโดรคาร์บอน

naichangmashare
Digital Media ที่นำเสนอความรู้ข่าวสารด้านงานวิศวกรรม เทคโนโลยีการผลิต ระบบออโตเมชัน โรบอต 3D การเพิ่มผลการผลิต สมาร์ทโลจิสติกส์ รีวิวสินค้าอุตสาหกรรม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่