สกสว. ผนึก 4 พันธมิตร ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ EV ระดับโลก

0
สกสว. ผนึก 4 พันธมิตร ยกเครื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ฮับอีวีระดับโลก
สกสว. ผนึก 4 พันธมิตร ยกเครื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ฮับอีวีระดับโลก

วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จับมือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

โดยนายพงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วยนายสิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สนช. นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการ สยย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และนางมัณฑนา รังสิโยภาส เลขาธิการ EVAT ผู้บริหารบริษัทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ร่วมลงนาม

โดยวัตถุประสงค์ในการลงนามครั้งนี้มีขึ้นเพื่อสร้างกิจกรรมขับเคลื่อนและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

นายพงศ์พันธ์เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกในปัจจุบันกำลังมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจึงมีแนวโน้มเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์อันดับ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน

เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของชิ้นส่วนยานยนต์ และความชำนาญในการผลิต จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

ทว่าในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัว เพื่อก้าวข้ามการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิม ไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า

ดังนั้น ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ จึงมีความจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ สามารถพึ่งพาตนเอง และแข่งขันในตลาดโลกได้มั่นคงและยั่งยืน

“ในนามของ สกสว. และหน่วยงานภาคีอีกทั้ง 4 หน่วยงาน จึงได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ Startup และ SMEs เร่งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ให้สามารถเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงการสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้ในตลาดอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป” นายพงศ์พันธ์กล่าว

นอกจากนี้ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานในประเทศ โดยในปี ค.ศ. 2022 ไทยผลิตรถยนต์ 1.88 ล้านคัน มากเป็นอันอันดับ 10 ของโลก แบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 0.85 ล้านคัน ส่งออก 1.00 ล้านคัน

รวมถึงคาดว่าในปี ค.ศ. 2023 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการตลาดในประเทศ 0.90 ล้านคัน ส่งออก 1.05 ล้านคัน ซึ่งการผลิตยานยนต์ในประเทศไทยเริ่มต้นจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า สู่การเป็นฐานการผลิตที่ส่งออกไปทั่วโลก ด้วยการมี Product champion ที่ตอบสนองต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย

ขณะที่ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการผลิตยานยนต์ที่มีคุณสมบัติ “สะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล นำมาสู่การส่งเสริมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) กำหนดเป็นเป้าหมายผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ร้อยละ 30 ในปี ค.ศ. 2030

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของโลก เนื่องด้วยประเทศไทยมีตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการตั้งโรงงานผลิต สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศผ่านการส่งออกได้สะดวก จากข้อตกลงระหว่างประเทศ (Free Trade Agreement : FTA) และนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์

ในด้านอุปทาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่ยาว มีอุตสาหกรรมที่สนับสนุนจำนวนมาก รวมทั้งแรงงานที่มีฝีมือ การกำหนดนโยบายรัฐอย่างมีทิศทาง ช่วยส่งเสริมผู้ผลิตยานยนต์จากทุกประเทศได้อย่างเสมอภาค

แม้ว่าไทยจะยังคงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก แต่ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายในและภายนอกหลายประการ อาทิ การมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ และการเปลี่ยนแปลงบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก

ด้วยความท้าทายดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยการใช้ความเข้มแข็งต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ จากการทำวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยอย่างใกล้ชิด ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมมือพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต่อไปได้ในอนาคต

naichangmashare
Digital Media ที่นำเสนอความรู้ข่าวสารด้านงานวิศวกรรม เทคโนโลยีการผลิต ระบบออโตเมชัน โรบอต 3D การเพิ่มผลการผลิต สมาร์ทโลจิสติกส์ รีวิวสินค้าอุตสาหกรรม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่