บริษัท มิวสเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตอากาศยานด้านอวกาศและดาวเทียมสื่อสารของไทยเดินหน้าพัฒนาดาวเทียมเพื่อการสื่อสารฝีมือคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดสามารถผลิตโดยวิศวกรภายในบริษัท
โดยวันที่ 9-11 มี.ค. ที่ผ่านมา มิว สเปซ ได้นำชิ้นส่วนดาวเทียมเข้าทดสอบประสิทธิภาพ กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการเพื่อการทดสอบวัสดุที่เตรียมนำส่งขึ้นชั้นบรรยากาศ โดยได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล ถือได้ว่าการทดสอบครั้งนี้ คือการทดสอบชิ้นส่วนดาวเทียมสื่อสารดวงแรกที่พัฒนาและผลิตขึ้นโดยคนไทย และทำการทดสอบโดยองค์กรภาครัฐของไทย
โดยก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีก่อน มิว สเปซ ได้เปิดตัวโรงงาน Factory 1 เพื่อใช้เป็นฐานดำเนินการออกแบบ วิจัย และพัฒนากระบวนการผลิตส่วนประกอบดาวเทียมต่างๆ โรงงานแห่งนี้ยังใช้เพื่อประกอบดาวเทียมขนาดเล็กที่พัฒนาทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญภายในบริษัท สําหรับชิ้นส่วนประกอบดาวเทียมที่ มิว สเปซ นํามาทดสอบกับ GISTDA นั้นคือ “Reaction Wheel” ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสําคัญที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพและช่วยปรับการทรงตัวของดาวเทียมในสภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งจําเป็นที่จะต้องผ่านการทดสอบการสั่นสะเทือน เนื่องจากชิ้นส่วนอาจแตกและสร้างผลกระทบความเสียหายต่อเนื่องไปยังส่วนอื่น ๆ ภายในดาวเทียมได้ โดยผลการทดสอบครั้งนี้ได้การรับรองจาก SSTL/Airbus และได้มาตรฐาน AS9100 D จาก GISTDA
ปัจจุบัน GISTDA พร้อมด้วยสถานที่ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบที่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องตรงความเป็นจริงตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งการทดสอบนี้ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนดาวเทียมที่จะนำขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของ มิว สเปซ มีคุณภาพและได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้า อีกทั้งการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการช่วยสร้างรากฐานความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ตลาดธุรกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับโลกได้
มิว สเปซ คอร์ป ผู้ผลิตดาวเทียมสื่อสารผีมือคนไทย ตั้งเป้าที่จะผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศไทยอย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านต่างๆ ตลอดจนสร้างโอกาสในการทำงานให้กับผู้คนในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ มิว สเปซ ยังได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อาทิ บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ – อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทย รวมถึงบริษัท Majuven Fund พร้อมกลุ่มนักธุรกิจเอกชนต่าง ๆ เช่น ผู้บริหารจากมูลนิธิมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) รวมทั้งนักลงทุนรายอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม โครงการต่าง ๆ ของมิว สเปซ กำลังเป็นที่น่าจับตามองของกลุ่มนักลงทุนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคนี้ได้อย่างยั่งยืน
reference : https://www.gistda.or.th/