ในบทความนี้อาจจะขอมาปูความรู้กับอุปกรณ์ชิ้นนึงที่ใกล้ตัวที่สุด และมีความสำคัญมากๆในการป้องกันดวงตาของเราจากงานช่างกันครับ นั้นก็คือ Safety glass หรือ นิรภัยนั้นเอง ซึ่งเจ้าแว่นตานิรภัยเองเนี่ยถือว่าป้องกันการดวงตาของเราจากเศษที่ชอบกระเด็นบ่อยๆในงานช่างกันนะครับ ซึ่งพูดง่ายๆคือ กันตาบอดแหละครับ ดังนั้นทุกๆงานช่าง หรืองานทางอุตสาหกรรม เราจำเป็นต้องใส่ไว้นะครับ ไม่ได้ใส่เพื่อกันจาก safety officer นะครับ แต่เพื่อตัวเราเอง
ดังนั้นในวันนี้ทางนายช่างมาแชร์ก็จะขอเล่าเรื่องแว่นตานิรภัยและก็เรื่องราวเกี่ยวกับดวงตากันนะครับ ไปเริ่มกันเลย…….
แว่นตานิรภัย Safety Glass คืออะไร?
แว่นตานิรภัย หรือที่เราเรียกว่า “Safety glass” เป็นอุปกรณ์ป้องกันดวงตา คล้ายกับแว่นตาโดยทั่วไป แต่จะแตกต่างกันในส่วนของความทนทานแข็งแรงและวัสดุที่ใช้ทำแว่นกับเลนส์ที่ใช้ตามความจำเป็นของลักษณะงาน เช่น ป้องกันแสงจ้าป้องกันความร้อน ป้องกันสารเคมี รังสี ลม หรือต้านแรงกระแทก ส่วนใหญ่จะทำจากวัสดุประเภทโพลีคาร์บอเนตซึ่งมีทั้งชนิดที่มีกระบังด้านข้างช่วยป้องกันเศษสิ่งของวัสดุกระเด็นเข้าทางด้านข้าง กับชนิดไม่มีกระบังด้านข้างใช้สำหรับป้องกันอันตรายเข้าทางด้านหน้าเท่านั้น และมีทั้งแบบที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ หรือแบบที่คงที่
วัสดุที่ใช้ทำกรอบแว่นนั้นมีทั้งที่ทามาจากโลหะและพลาสติกและชนิดผสมระหว่างโลหะกับพลาสติกที่มีคุณสมบัติทนต่อการกัดกร่อนดูดซึม เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายไม่มีกลิ่นหรือเป็นพิษกับผู้ใช้ ซึ่งตามจริงแล้วอุปกรณ์ป้องกันดวงตาก็ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็น 2 ประเภท คือแว่นตานิรภัย (Protective spectacle) และ แว่นครอบตานิรภัย (Safety Goggles)
สีของเลนส์ควรเลือกให้เหมาะกับงานโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น เลนส์ใส เป็นเลนส์ที่มองเห็นได้ดีที่สุดใช้สำหรับป้องกันวัสดุกระเด็นเข้าดวงตาเท่านั้นเหมาะสำหรับใช้งานในร่มและเป็นงานที่ไม่มีความเสี่ยงจากแสงจ้าจากการทำงาน เลนส์สีชา หมาะสำหรับทั้งงานในร่มที่มีแสงน้อยและกลางแจ้งที่มีแสงมากเช่นงานใน warehouse พนักงานขับรถใน warehouses เลนส์เทา เหมาะกับงานที่มีแสงจ้าหรือที่ต้องสัมผัสแสงแดดเช่นงานกลางแจ้ง
จุดประสงค์ของการใช้แว่นตานิรภัย
แว่นตานิรภัยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้สวมใส่ สามารถป้องกันนัยน์ตาจากงานต่างๆ ดังนี้ งานในห้องปฏิบัติการ งานกลึง งานประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ งานเชื่อมโลหะ งานก่อสร้าง งานไม้และ อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น
เรื่องของดวงตา
ก่อนจะไปลงลึกเรื่องแว่นอาจจะขอมาแนะนำดวงตาของเรากันนะครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง และมีความบอบบาง น่าเป็นห่วงขนาดไหน และอันตรายจากการทำงานมีอะไรบ้าง
ลูกตาคนเราแบ่งออกเป็น 3 ชั้น
1. ชั้นนอกสุด เป็นส่วนของกระจกตา/ตาดำ (Cornea) ที่อยู่ด้านหน้า และตาขาว/เปลือกลูกตา (Sclera) อยู่ถัดตาดำออกมาและรวมไปถึงส่วนด้านหลังลูกตา โดยความโค้งของกระจกตาและของตาขาวไม่เท่ากัน กระจกตาเป็นเหมือนรูปโคมปิดอยู่ข้างหน้า ลูกตาชั้นนอกสุดนี้ ถือว่าเป็นชั้นปกป้องเนื้อเยื่อที่สำคัญภายในลูกตา ทั้งนี้รอยต่อระหว่าง กระจกตาและตาขาวเรียกว่า Limbus
2. ชั้นกลาง/ผนังลูกตาชั้นกลาง เป็นชั้นที่มีหลอดเลือดและมักจะมีสารให้สี (Pigment) อันเป็นเหตุให้ตาคนเรามีสีต่างๆกันในแต่ละเชื้อชาติ รวมเรียกเนื้อเยื่อชิ้นนี้ว่า Uvea หรือ Uveal tract ซึ่งเนื้อเยื่อชั้นกลางนี้ประกอบด้วย Iris (ม่านตา) เนื้อเยื่อ Ciliary body ซึ่งอยู่ส่วนหน้า และเนื้อเยื่อ Choroid ที่อยู่ส่วนหลังซึ่งเป็นชั้นที่มีหลอดเลือดมาก เป็นชั้นนำอาหารมาเลี้ยงส่วนต่างๆของลูกตาผ่านทางหลอดเลือด
3. ชั้นในสุด เป็นชั้นของระบบประสาทที่ทำหน้าที่ในการมองเห็น บุอยู่ชั้นในสุดของลูกตา คือ ชั้นจอตา หรือจอประสาทตา (Retina) ซึ่งมีเฉพาะด้านหลัง จากบริเวณเนื้อเยื่อ Ciliary body ไปจนสุดที่ขั้ว/จานประสาทตา (Optic disc)
กระจกตา (Cornea)
กระจกตา อยู่ด้านหน้าสุดของลูกตา เป็นรูปโคม เป็นเนื้อเยื่อใส ไม่มีสี มักจะเรียกกันว่า ตาดำ ใส ไม่มีสี ที่เห็นดำเพราะเป็นสีของม่านตาที่อยู่ลึกลงไป กระจกตา ไม่มีหลอดเลือด (Avascular) ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้กระจกตาใสอยู่เสมอ (ถ้าขุ่น จะทำให้ตามัว) ส่วนข้อเสียคือ ถ้ามีการอักเสบติดเชื้อ การหายของแผลยากกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆ เพราะไม่มีหลอดเลือดนำเม็ดเลือดขาวมาช่วยขจัดเชื้อโรค มีความใสอยู่เสมอ
เนื่องจากการเรียงตัวของเนื้อเยื่อกระจกตาเป็นไปอย่างสม่ำ เสมอเป็นระเบียบ ตัวกระจกตาจะอยู่ในภาวะแห้ง (Dehydrate) ถ้าอยู่ในภาวะอุ้มน้ำ กระจกตาจะบวมทำให้ตามัวลง มีปลายประสาทมาเลี้ยงกระจกตา มากกว่าในเนื้อเยื่ออื่นๆในร่างกาย กระจกตาจึงไวต่อความรู้สึก การสัมผัส ความร้อน สารเคมี และ/หรือผง แม้ขนาดเล็กนิดเดียวเมื่อกระทบกระจกตา จะส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวด เคืองตาอย่างมาก
ตาขาว (Sclera)
ตาขาว หรือ เปลือกลูกตา เป็นส่วนต่อจากกระจกตาไปด้านหลัง ประกอบด้วยสาร Collagen ชนิดที่เรียงตัวกันอย่างไม่เป็นระเบียบ จึงเป็นฝ้าขาวไม่ใสอย่างกระจกตา เป็นส่วนห่อหุ้มเนื้อเยื่อภายในลูกตา และเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อนอกลูกตาที่อยู่ในเบ้าตา มีหน้าที่กลอก หรือเคลื่อนไหวลูกตา
ม่านตา (Iris)
ม่านตา เป็นเนื้อเยื่ออยู่หน้าสุดของผนังลูกตาชั้นกลาง ประกอบด้วยหลอดเลือด เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รวมทั้งเซลล์ที่มีเม็ดสี (Melanocyte) หากเลาะม่านตาออกมาวาง จะมีรูตรงกลางเรียกว่า รูม่านตา (Pupil) ม่านตาประกอบด้วย หลอดเลือด เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และยังมีกล้ามเนื้อเพื่อการหดม่านตา เมื่อกล้ามเนื้อหดม่านตาได้รับยาบางชนิด หรือเจอแสงจ้าๆ กล้ามเนื้อนี้จะทำงานแบบหูรูด และทำให้ม่านตาเล็กลง ขณะเดียวกันกล้ามเนื้อขยายม่านตา เมื่อทำงานจะดึงม่านตาไปทางขอบๆ คล้ายๆคลายหูรุด ม่านตาก็จะขยายใหญ่ขึ้น
จอรับภาพ (retina)
เป็นเนื้อเยื่อชั้นในสุด มีเซลล์รับแสง 2 ชนิด ทำหน้าที่รับแสง คือ เซลล์รูปแท่ง จะบอกปริมาณแสง ทำงานได้ดีในที่มืด และเซลล์รูปกรวย จะบอกสี ทำงานได้ดีในที่สว่าง
เส้นประสาทตา (Optic nerve)
ทำหน้าที่ รับภาพจากจอตาที่ดวงตา เพื่อไปแปลผลที่สมอง แสงส่องผ่านเลนส์ตา และส่งสัญญานผ่านเส้นประสาทตาไปยังสมอง โดย แสงสะท้อนจากวัตถุเข้าสู่ดวงตา และผ่านกระจกตา สู่รูม่านตา และทะลุผ่านเลนส์ตา โดยกระจกตาและเลนส์ตาจะเบี่ยงเบนแสงให้ตกพอดีบนจุดรับภาพของจอตา(Macula) จากนั้นซลล์จอประสาทตาจะเปลี่ยนลำแสงให้เป็นคลื่นไฟฟ้า และคลื่นไฟฟ้าจะวิ่งผ่านเส้นประสาทของตา(Optic nerve)ไปสู่สมอง สมองจะทำการแปลผลสัญญาณนี้ให้กลายเป็นภาพ
ปัจจัยที่ทำอันตรายกับดวงตา
1) ปัจจัยด้านกายภาพ
- แรงกระทำต่าง ๆ การกระแทก: เกิดจากการกระเด็นของวัตถุเช่นเศษไม้, โลหะมักจะเกิดกับงานเชื่อม, กลึง, งานพ่นทราย, เลื่อยไม้, เจาะไม้, ยิงตะปู เป็นต้น
- รังสีที่ไม่แตกตัวเป็นรังสีที่มีพลังงานไม่มากพอที่จะทำให้อะตอมแตกตัว แต่การสั่นสะเทือนและการเคลื่อนที่ของ โมเลกุล จะทำให้เกิดความร้อน และพลังงานออกมา รังสีที่ไม่แตกตัวแบ่งออกได้หลายชนิดคือ รังสีอัลตราไวโอเลท รังสีในช่วงคลื่นที่สายตา มองเห็นได้ รังสีใต้แดง รังสีไมโครเวฟ รังสีอัลตราซาวน์ และเลเซอร์ เป็นต้น
- รังสีในช่วงคลื่นที่มองเห็นได้ คือ แสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ และหลอดไฟชนิดมีไส้ ถ้าความเข้มแสง ที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าของสายตา ปวดศีรษะ
- รังสีอัลตราไวโอเลท (แสง UV) ถ้าได้รับมากเกินไปมีผลต่อตา คือ ตาแดง เยื่อบุในชั้นตาดำอาจถูกทำลาย ผิวหนังอักเสบ คัน สัมผัสเป็นเวลานานทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
- รังสีอินฟาเรด (IR) ทำให้เกิดอันตรายต่อตา เมื่อรังสีถูกดูดกลืนเข้าไปในตาดำและเลนส์ จะให้พลังงาน แก่เซลล์ จะทำให้เกิดตกตะกอนของสารประกอบที่อยู่ในเซลล์ เป็นมากอาจตาบอด นอกจากนี้ยังอาจทำให้ ผิวหนังไหม้ได้
- อัลตราซาวนด์ การสัมผัสอัลตราซาวนด์ที่มีความถี่สูงที่สามารถได้ยินได้ ทำให้ เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหู มึนงง อ่อนเพลีย เกิดการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว
- เลเซอร์ การสัมผัสกับเลเซอร์ จะทำให้เกิดอันตรายต่อตา โดยเฉพาะส่วนกระจกตาและเลนส์ตา มีผลต่อ ผิวหนังที่สัมผัสทำให้เกิดตุ่ม
- ไมโครเวฟ มีผลทำให้เกิดอันตรายต่อตา ระบบประสาทส่วนกลางและระบบสืบพันธุ์
2) ปัจจัยด้านสารเคมี
สิ่งที่ทำให้เกิดอันตรายจากดวงตา ได้แก่ ฝุ่น ฟูม ควัน ละออง ไอ ก๊าซ และตัวทำละลายต่าง ๆ
- ฝุ่น (Dust) อนุภาคของแข็งขนาดเล็กที่ลองลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งเกิดจากวัตถุที่ถูกทุบ ตี บด กระแทกจนแตกออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ เมื่อถูกกระแสลมพัดก็จะปลิวกระจายตัวอยู่ในอากาศ และตกลงสู่พื้น ซึ่งเวลาในการตกจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับน้ำหนักของอนุภาคฝุ่น
- ฟูม (Fumes) หมายถึงอนุภาคที่เป็นของแข็ง ซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ โดยทั่วไปจะมีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 1.0 ไมครอน เกิดจากการควบแน่นของไอโลหะ เมื่อโลหะได้รับความร้อนจนหลอมเหลว เช่น ฟูมของตะกั่ว ฟูมของเหล็ก ฟูมของสังกะสี ฯลฯ
- ควัน (smoke) หมายถึง อนุภาคเล็กละเอียดที่ลอยอยู่ในอากาศซึ่งโดยทั่วไปจะมีขนาดเล็กกว่าหนึ่งไมครอน ส่วนประกอบทางเคมีของควันนั้นค่อนข้างจะซับซ้อน ปกติควันจะเป็นผลที่เกิดจากการ เผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของวัตถุที่มีธาตุที่มีธาตุคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ เช่น ถ่านหิน และนํ้ามัน เป็นต้น
- ละออง (mist) หมายถึงอนุภาคของเหลวที่มี >40 ไมครอนที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ เกิดจากการที่ของเหลว เมื่อได้รับแรงกดดัน จนเกิดการแตกตัวเป็นอนุภาค เช่น ในการพ่นสารฆ่าแมลง ซึ่งจะใช้ปั๊มหรือกระบอกฉีดทำให้ของเหลวแตกตัวแล้วกลายเป็นละอองเล็กๆ หรือในบางครั้งละอองเล็กๆ นี้อาจเกิดจากการควบแน่นของไอ หรือของก๊าซให้กลายเป็นของเหลวที่เป็นละอองเล็กๆ ก็ได้ เช่น ละอองที่เกิดจากไอของกรดกำมะถัน เป็นต้น
- ไอสาร (vapor) เป็นภาวะที่เป็นก๊าซของสารที่เป็นของเหลวหรือของแข็งที่อุณหภูมิ และความกดดันปกติ เช่น ไอสารของลูกเหม็น เบนซิน เป็นต้น ไอสารเหล่านี้สามารถจะเปลี่ยนรูปกลับเป็นของ เหลวหรือของแข็งตามสภาวะเดิมได้ โดยการเพิ่มความกดดัน หรือลดอุณหภูมิลง
- ก๊าซ (gas) หมายถึง ของไหล (fluid) ซึ่งไม่มีรูปร่างที่แน่นอนขึ้นกับภาชนะที่ใช้บรรจุ สามารถเปลี่ยนเป็นของเหลว หรือเป็นของแข็งได้ โดยการเปลี่ยนอุณหภูมิและ/หรือเปลี่ยนความกดดัน เช่น ก๊าซหุงต้มตามบ้านเรือนเมื่อบรรจุลงในถังที่มีความกดดันสูงๆ จะกลายเป็นของเหลว เมื่อเราปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ ของเหลวในถังก็จะกลายเป็นก๊าซ ตัวอย่างของก๊าซมากมาย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน คลอรีน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น
- ตัวทำละลาย(Solvent) เป็นสารที่ใช้ละลายตัวถูกละลายหรือทำละลายชนิดอื่น ๆ ตัวทำละลายมีมากมายหลายชนิด มีความสามารถในการกลายเป็นไอได้ ตัวอย่างเช่น ทินเนอร์ แอลกอฮอล์ เป็นต้น
3) ปัจจัยด้านชีวภาพ
หมายถึง พืช สัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากพื้นหรือสัตว์ที่มีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น เชื้อจุลินทรีย์ ไวรัส พิษของสัตว์ สารต่าง ๆ ที่ทำให้มีการแพ้ โปรตีนจากสัตว์ พยาธิ เป็นต้น
วิธีการทดสอบเลนส์ของแว่นนิรภัย
ตามมาตรฐานสถาบันมาตรฐานความปลอดภัยอเมริกา ข้อที่ ANSI Z 87.1-1963 (ANSI = AMERICAN NATIONAL STANDARD INSTITUTE) กล่าวไว้ดังนี้นำเลนที่จะทดสอบมาไว้ยังฐานซึ่งอยู่ในแนวราบ (HORIZONTAL LEVEL) จากนั้นนำลูกเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้วน้ำหนักของลูกเหล็ก 2.4 ออนซ์ วัดระยะห่างของลูกเหล็ก และจุดศูนย์กลางของเลนส์ที่จะทดสอบ ให้ห่างกันประมาณ 50 นิ้ว ประมาณ 1.30 เมต จากนั้นให้ปล่อยลูกเหล็กทิ้งลงมาอย่างอิสระลงบนผิวหน้าตรงจุดศูนย์กลางเลนส์ ถ้าหากเลนส์ที่ทดสอบไม่มีรอยร้างใดๆ เกิดขึ้น ถือว่าเลนส์ดังกล่าวเป็นเลนส์นิรภัยได้”
วัสดุที่ใช้ทำเลนส์แว่นตานิรภัย
วัสดุที่ให้ทำเลนส์ของแว่นสายตานั้นมีหลายประเภท ซึ่จะขอเปรียบเทียบของวัสดุที่ใช้ทำเลนส์แว่นตานิรภัย ดังนี้
1) กระจก (Glass)
ข้อดีคือ ป้องกันรอยขีดข่วน / มองเห็นภาพได้ชัดเจน / กรองรังสีอินฟาเรด / มีเลนส์ออกแบบพิเศษให้เลือกจำนวนมาก
ข้อเสียคือ กันแรงกระแทกในระดับทั่วไป / เกิดรอยแตกง่ายจากการทดสอบแรงกระแทก / หนักกกว่าโพลีคาร์บอเนตและพลาสติก
2) โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate)
ข้อดีคือ เป็นวัสดุที่แข็งแรงที่สุดสำหรับกันกระแทก / มีน้ำหนักเบา เบากว่ากระจก37% / มีความยืดหยุ่นมากกว่ากระจก / สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ง่าย / มองเห็นภาพชัดเจน 91%
ข้อเสีย คือ เป็นรอยขีดข่วนง่ายกว่ากระจก / มีสีจำกัด
3) พลาสติก (Plastic)
ข้อดี คือ แข็งแรงกว่ากระจก / มีสีให้เลือกมากกว่าโพลีคาร์บอเนต / มีน้ำหนักเบา เบากว่ากระจก 41% / เศษโลหะเกาะติดน้อยมาก
ข้อเสีย คือ เป็นรอยขีดข่วนได้ง่ายกว่า โพลีคาร์บอเนต / กันกระแทกได้น้อยกว่าโพลีคาร์บอเนต
การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตา
- ต้องแน่ใจว่าแว่นตานิรภัยที่สวมอยู่เหมาะพอดีกับสายตา ดั้งจมูก และความยาวของขากรอบแว่น แว่นตานิรภัยควรจะปรับให้พอดีสำหรับแต่ละบุคคล
- ใส่แว่นตานิรภัยที่ขากรอบแว่นพอเหมาะกับใบหู และกรอบพอเหมาะกับดั้งจมูกพอดีจะทำให้กรอบแว่นอยู่ติดกับหน้ามาที่สุด
- ทำความสะอาดแว่นตานิรภัยทุกวัน โดยปฏิบัติ ตามคู่มือของผู้ผลิต หลีกเลี่ยงการเช็ดถูแรงๆ บริเวณเลนส์ เพราะอาจทำให้เลนส์เป้นริย มองเห็นไม่ชัดและทำให้เปราะแตกได้
- เก็บแว่นตานิรภัยในสถานที่สะอาดและแห้ง ในที่ที่แว่นนั้นจะไม่ตกหรือถูกกระทบได้และเก็บไว้ในกล่องทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้
- เปลี่ยนแว่นตานิรภัยใหม่ หากเกิดรอยขีดข่วน รอยร้าว แตกหัก โค้งงอหรือใส่ไม่พอดี แว่นตาที่ชำรุดนอกจากจะทำให้มองภาพไม่ชัดเจนแล้วยังไม่สามารถป้องกันอันตรายได้
- ควรมั่นใจว่าแว่นตานิรภัยที่ท่านเลือกเพื่อใช้งาน เป็นสินค้าที่ได้รับมาตรฐานสากลที่เชื่อถือได้
ข้อแนะนำในการใช้งานแว่นตานิรภัย
- ตรวจสอบสภาพชิ้นส่วนต่าง ๆ ของแว่นตานิรภัยก่อนการใช้งาน ได้แก่ เลนส์ไม่มัวหรือแตก, ขาแว่นสามารถปรับยืดหด, พับ-กาง, หรือปรับขึ้น-ลงได้ สายคล้อง แว่นไม่ชำรุด
- ทำความสะอาดเลนส์โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดและกระดาษเช็ดเลนส์โดยเฉพาะ หรือใช้สบู่อ่อน ๆล้างแล้วซับให้แห้ง
- ปรับขนาดแว่นตานิรภัยให้กระชับใบหน้า
- ห้ามวางให้เลนส์สัมผัสกับพื้นเพราะจะทำให้เลนส์เกิดรอยขีดข่วน
- ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาตลอดเวลาการทำงานเสมอ เพราะหากถอดออก อาจเปิดโอกาสให้เกิดความเสี่ยงกับดวงตา
การดูแลรักษาแว่นตานิรภัย
- ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้สะอาดและอยู่ในสภาพ พร้อมใช้งานเสมอ
- จัดเก็บอุปกรณ์ป้องกันดวงตาให้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสามารถหยิบใช้งานได้สะดวก
- เลนส์ที่มีรอยขีดข่วน ห้ามนำมาใช้งานควรมีการเปลี่ยนใหม่เพื่อให้การมองเห็นของผู้ปฏิบัติงานชัดเจนมากยิ่งขึ้น
วีดีโอเรื่องแว่นนิรภัย Safety glass
=============================================
สำหรับบทความนี้ต้องขอขอบคุณสปอนเซอร์ใจดีจากทาง “บริษัท ผลธัญญะ จำกัด(มหาชน)” ตัวแทนจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการของแว่นตา synos ที่เรียกว่าแว่นตานิรภัยที่เหมาะสมกับคนบ้านเราสุดๆเลยครับ
หากเพื่อนๆสนใจสามารถติดต่อได้ตามช่องทาง https://www.pholonline.com
หรือช่องทาง lazada, shopee โดยพิมพ์คำว่า pholonline
=============================================
แล้วพบกับสาระดีๆแบบนี้ทางด้านงานช่าง งานวิศวกรรม และอุตสาหกรรมได้ที่ นายช่างมาแชร์ นะครับ
Website: www.naichangmashare.com
Facebook: https://www.facebook.com/naichangmashare/
Blockdit : https://www.blockdit.com/naichangmashare
Instragram: https://www.instagram.com/naichangmashare/
Twitter: https://twitter.com/naichangmashare
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCmIPiSeg-uy4k8JYSmknp_g
#นายช่างมาแชร์