ส่อง 5 หลักสูตรใหม่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในไทย ทางรอดใหม่สายอาชีพทักษะ AI ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ AI รวดเร็วและร้อนแรงขึ้นทุกวัน จากที่เราใช้เทคโนโลยีเป็น “อุปกรณ์” การมีปัญญาประดิษฐ์ที่ก้าวหน้ามาสู่ฐานะอุปกรณ์ที่ “ขาดไม่ได้” ในสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น นับเป็นครั้งแรกในการสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการรับรู้และการตัดสินใจที่สามารถแข่งขันกับมนุษย์ได้ในทุก ๆ ประเภทงาน
รวมถึงงานประจำวัน หรืองานเชิงกลยุทธ์ เช่น การสร้างสถานการณ์ทางธุรกิจ งานสร้างสรรค์ เช่น การแต่งเพลง และงานวิเคราะห์ เช่น การประเมินมูลค่าบ้าน การเข้ามาของเอไออาจทำให้หลายคนเกรงกลัวสายงานบางอย่างจะไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป แต่ในทางกลับกันอาชีพที่มาพร้อมกับมันก็กลายมาเป็นที่ต้องการเช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะวิศวกรข้อมูล Data Engineer, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล Data Scientist และนักวิเคราะห์ข้อมูลเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก เพื่อสอดคล้องไปกับการปรับตัวเข้าสู่ยุคที่คนต้องทำงานประสานร่วมกับการใช้เอไอ
ตัวอย่างสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลจาก Vietnam IT & Tech Talent Landscape Report ระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมของประเทศเวียดนามมีแรงงานในภาคส่วน Computer Science และสายงานไอทีประมาณ 560,000 คน
ขณะที่ในหนึ่งปีมีนักศึกษาที่เรียนคณะเหล่านี้เพียง 55,000 – 60,000 คน แต่ความต้องการแรงงานยังคงสูง คาดว่าจะขาดแคลนแรงงานภาคส่วนนี้ 150,000 – 200,000 คน ในช่วงปี 2023 – 2026
หันกลับมายังสถานการณ์คณะของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังตื่นตัวกับความต้องการของตลาดได้ไม่มากนัก และมีเพียงไม่กี่สถาบันเท่านั้นที่มีคณะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การจ้างงานบัณฑิตที่เรียนจบไปในอนาคต
ประชาชาติธุรกิจ พาไปทำความรู้จักคณะที่เรียนหลักสูตรเกี่ยวกับเอไอ จาก 5 มหาวิทยาลัยในไทย ดังนี้
จุฬาฯ
หลักสูตร International School of Engineering (ISE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาระบบความคิดและทักษะทางวิศวกรรมเชิงลึกควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ
หลักสูตรนี้เปิดสอนใน 5 สาขาวิชา ซึ่งแต่ละสาขาวิชามีการเรียนการสอนที่ทันสมัย อัพเดตองค์ความรู้ใหม่ ๆเท่ากันเหตุการณ์โลก และครอบคลุมเนื้อหาที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมจากทั่วโลก ได้แก่
AERO (Aerospace Engineering) – วิศวกรรมอากาศยาน : เน้นการเรียนเกี่ยวกับการออกแบบและสร้างเครื่องบิน เรียนรู้การพัฒนาและซ่อมบำรุงเครื่องกลของเครื่องบิน เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้สอนการบิน แต่เน้นความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับอากาศยาน
NANO (Nano Engineering) – วิศวกรรมนาโน : มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี เช่น Biomedical Engineering, Chemical Engineering และ Materials Engineering จบแล้วสามารถทำงานได้ทั้งด้านวิจัยและโรงงานอุตสาหกรรม
ICE (Information & Communication Engineering) – วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร : สาขานี้เป็นการผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์ ไฟฟ้า และอุตสาหกรรม นักศึกษาที่จบจากสาขานี้สามารถทำงานในด้าน IT เช่น Software Engineering, Computer Networking หรือสายงานโปรแกรมเมอร์
ADME (Automotive Design and Manufacturing Engineering) – วิศวกรรมการออกแบบและการผลิตยานยนต์ : เน้นการเรียนเกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ สามารถทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์ชั้นนำหรือสายงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์
Robotics & AI (Robotics and Artificial Intelligence Engineering) – วิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ : หลักสูตรที่ผสานทั้งเครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และ AI สามารถทำงานในสายงานด้าน Machine Design, Data Science หรือวิศวกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
ค่าเทอม :
ภาคเรียนปกติ 25,500 บาทต่อเทอม
ภาคเรียนปกติ 25,500 บาทต่อเทอม
ภาคฤดูร้อน 6,375 บาทต่อเทอม
ค่าธรรมเนียมโปรแกรม แบ่งเป็น 1.ภาคเรียนปกติ 84,000 บาทต่อเทอม 2.ภาคฤดูร้อน 42,000 บาทต่อเทอม และ 3. Industrial Training 21,000 บาทต่อเทอม
สจล. x ม.กรุงเทพฯ
หลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และการเป็นผู้ประกอบการ AI Engineering and Entrepreneurship (AIEE) สร้างผู้ประกอบการด้านวิศวกรรม AI หลักสูตรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร
การเรียนแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักคือ AI Engineering และ Entrepreneurship ซึ่งทั้งสองจะเรียนควบคู่กันในทุกเทอม ทำให้เข้าใจทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์และการทำธุรกิจไปพร้อมกัน แต่สัดส่วนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเทอม นอกจากนี้สามารถเลือกเรียนสายเฉพาะทาง (Specialized tracks) ที่ตอบโจทย์ตลาดงานได้ทั้งในและต่างประเทศ มีเปิดสอน 3 ด้าน คือ
Food and Biotechnology Industry พัฒนา AI ให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ
Digital and IoT Industry โฟกัสการพัฒนา AI สำหรับโลกดิจิทัลและอุปกรณ์ IoT
Electric Vehicle and Logistics Industry พัฒนา AI เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
สำหรับหลักสูตรนี้ มีระยะเวลาของหลักสูตรจบภายใน 4 ปี โดยการเรียนในชั้นปีที่ 4 สามารถวางแผนการเรียนของตัวเองได้ โดยมีให้เลือก 2 แบบ คือ
จบใน 3.5 ปีมีตัวเลือกไปต่างประเทศหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นฝึกงานที่ต่างประเทศ (Overseas Training), ฝึกงานไปพร้อมกับทำงาน (Co-Op) หรือเรียนต่ออย่างเดียว (Study Abroad) ที่มหาวิทยาลัยพาร์ทเนอร์ จบใน 4 ปี เน้นสาย Incubation หรือการสร้างธุรกิจของตัวเองแบบจริงจัง โดยมีโอกาสได้รับการคัดเลือกให้เป็น Holding Company ของมหาวิทยาลัย
ค่าเทอม : 175,000 บาทต่อเทอม รวมทั้งหมด 1.4 ล้านบาท
สจล.
หลักสูตร วศ.บ.วิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (สหวิทยาการ) (นานาชาติ) หรือ B.Eng. Robotics and AI Engineering (Internation Program) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำเสนอหลักสูตรที่เป็นเทรนด์เทคโนโลยีอนาคต และตอบโจทย์อุตสาหกรรม New S-curve ใหม่ของประเทศ
หลักสูตรนี้มีจุดแข็ง คือ การเน้นการฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ทฤษฎีที่เข้มข้นพร้อมการฝึกปฏิบัติและทดลองทำจริงผ่านโจทย์ที่กำหนดจากภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งองค์การชั้นนำด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ตามความร่วมมือกับหลักสูตร ผู้เรียนจะได้รับโจทย์และเรียนรู้เครื่องมือที่ทันสมัยจากภาคอุตสาหกรรมด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ปัญหาและสามารถใช้งานได้จริง โดยมีอาชีพที่ตรงสาย ได้แก่
Roboticist or Robotic Engineer
Startup Entrepreneur in High Tech
AI Engineer
System Engineer
AI programmer
Solution Engineer
System Integration Engineer
อัตราเงินเดือน : 25,000 บาทขึ้นไป ตามความถนัดและความสามารถ
ม.อุบลฯ
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และการสั่งการ (วศ.บ.) (Bachelor of Engineering Program in Artificial Intelligence and Prompt) เป็นหลักสูตรที่เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะการใช้งาน Generative AI เเพื่อประยุกต์ใช้งานและแก้ปัญหาในหลากหลายสาขา
หลักสูตรยังครอบคลุมถึงการเขียนโปรแกรม การพัฒนาแอปพลิเคชัน และการออกแบบระบบที่สามารถ “สั่งการ” ได้แบบอัตโนมัติหรือเชื่อมโยงกับ IoT (Internet of Things) เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 และโลกดิจิทัลในอนาคต โดยมีวิชาที่อยู่ในหลักสูตร ดังนี้
วิชาประยุกต์ใช้งานจริง : การสร้าง AI Chatbot, การทำ Computer Vision (การมองเห็นของคอมพิวเตอร์) และการสร้าง Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR)
วิชาสร้างสรรค์กับ AI : การสร้าง AI Art และ Digital Content, การออกแบบและพัฒนาเกมส์ด้วย AI และการสร้างแอนิเมชันและ 3D Model ด้วย AI
วิชาเทคโนโลยีสมัยใหม่ : Internet of Things (IoT) – เรียนรู้การสร้างอุปกรณ์อัจฉริยะ, หุ่นยนต์และ AI (Robotics & AI) และการพัฒนาแอพพลิเคชันมือถือ
ค่าเทอม : 28,000 บาทต่อเทอม รวมค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 224,000 บาท
ม.หอการค้า
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีและปฏิบัติการพื้นฐานทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ เสริมในเรื่องของความผู้ประกอบการแล้ว และให้นักศึกษามีความรู้ในศาสตร์ทางด้าน FinTech และพร้อมจะเป็นผู้ประกอบการ เข้าสู่วงการ Startup ได้ทันที
จุดเด่นหลักสูตร
หลักสูตรนี้มุ่งเน้นการสร้างความรู้และทักษะทั้งทฤษฎีและปฏิบัติในวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์
นักศึกษาจะได้รับการฝึกฝนให้มีความรู้ในศาสตร์ทางด้าน FinTech และพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการ
หลักสูตรนี้เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเข้าสู่วงการ Startup ได้ทันที นักศึกษาจะได้รับการฝึกฝนให้มีความตื่นตัว ใฝ่รู้ และพร้อมสร้างความแตกต่างในอนาคต
ค่าเทอม 28,333 บาทต่อเทอม และ340,000 บาทตลอดหลักสูตร
แล้วพบกับสาระดีๆแบบนี้ทางด้านงานช่าง งานวิศวกรรม และอุตสาหกรรมได้ที่ นายช่างมาแชร์ นะครับ
Website: www.naichangmashare.com
Facebook: https://www.facebook.com/naichangmashare/
Blockdit : https://www.blockdit.com/naichangmashare
Instragram: https://www.instagram.com/naichangmashare/
Twitter: https://twitter.com/naichangmashare
Youtube: https://www.youtube.com/@naichangmashare
TikTok : https://www.tiktok.com/@naichangmashare