Boiler [EP.6] : ระบบควบคุมการเผาไหม้ของหม้อไอน้ำ (Boiler Combustion Control System)

0
boiler [ep.6] wallpaper
boiler [ep.6] wallpaper

สำหรับหม้อน้ำเชื้อเพลิงเหลว และเชื้อเพลิงก๊าซ พลังงานความร้อนที่ใช้ในการผลิตไอน้ำ ได้จากการเผาไหม้ภายในหัวเผา ซึ่งวิธีการเลือกหัวเผาขึ้นมาใช้งานขึ้นอยู่กับ ชนิดของเชื้อเพลิง วิธีการสร้างฝอยละอองสำหรับเชื้อเพลิงเหลว และการควบคุมการเผาไหม้

โดยนิยามของการเผาไหม้ที่ดี คือ “การควบคุมปริมาณการป้อนเชื้อเพลิงและอากาศให้เหมาะสมกับภาระทางความร้อน (Heat load) ของหม้อน้ำ การควบคุมการทํางานของหัวเผาที่ดีส่งผลให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนที่เหมาะสม” 

ประเภทของการควบคุมการเผาไหม้ในหม้อไอน้ำ (Type of control system)

โดยวิธีการควบคุมการเผาไหม้ที่เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ เกิดการประหยัดพลังงานและช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ โดยสามารถแบ่งวิธีการควบคุมการเผาไหม้ได้เป็น 4 ประเภทประกอบด้วย คือ

1) การควบคุมการเร่งหรี่แบบเปิด/ปิด (On/Off control) 
2) การควบคุมการเร่งหรี่แบบขั้นบันได 3-Stage (Hi/Low/off control)
3) การควบคุมการเร่งหรี่แบบ 4-Stage (Off-Low Fire –Medium Fire – High Fire control)
4) การควบคุมการเร่งหรี่แบบต่อเนื่อง/ผันแปร (Proportional control)

รูปที่ 1 แสดงการหลักการควบคุมการทำงานของหัวเผาแบบต่างๆ
*ที่มา : คู่มือการปรับแต่งหัวเผา โครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่นอกเหนือจากโรงงานควบคุม

1. การควบคุมการเร่งหรี่แบบเปิด/ปิด (On/Off control) 

การควบคุมการเร่งหรี่แบบเปิด/ปิด (On/Off control) จะมีการใช้งานหัวฉีดหัวเดียว เชื้อเพลิงจะถูกฉีดด้วยแรงดันป้อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ การควบคุมแบบนี้จะไม่สามารถหรี่เร่ง-ลดเชื้อเพลิงได้อย่างทันที มักใช้กับหม้อน้ำขนาดเล็กที่มีความต้องการใช้ไอน้ำ 100 -300 kg/h ดังรูปที่ 2 ไม่เหมาะกับหม้อน้ำขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตไอน้ำสูง เนื่องจากการทำงานของหัวเผาเป็นการเปิด/ปิด อย่างเดียวไม่มีการหรี่เร่ง การทำงานหัวเผาดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 แสดงขนาดของหม้อน้ำที่เหมาะสมกับการควบคุมการเร่งหรี่แบบเปิด/ปิดและแผนผังการควบคุมการเร่งหรี่แบบเปิด/ปิด (On/Off control)
*ที่มา : คู่มือการปรับแต่งหัวเผา โครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่นอกเหนือจากโรงงานควบคุม

โดยเมื่อหม้อน้ำเริ่มจุดติดหัวเผาจะต่อการทำงาน (ON) โซลินอยล์วาล์วเปิด เชื้อเพลิงจะถูกฉีดด้วยอัตราการป้อนเชื้อเพลิงสูงสุด เมื่อความดันไอน้ำสูงถึงจุดที่ตั้งไว้หรือเมื่อการใช้ไอน้ำน้อยลง จะมีสัญญาณมาตัดการทำงาน (OFF) เพื่อปิดโซลินอยล์วาล์ว จากนั้นเมื่อความดันไอน้ำลดต่ำลงถึงจุดที่ตั้งไว้ก็จะมีสัญญาณมาต่อ (ON) อีกครั้ง

ด้วยการทำงานแบบนี้หัวเผาจะไม่สามารถหรี่เร่งตามความต้องการไอน้ำ มีโอกาสที่หัวเผาจะทำงานในจังหวะเร่งตลอดเวลาจนทำให้ปริมาณเชื้อเพลิงมากเกินความจำเป็น เกิดการเผาไหม้แบบเชื้อเพลิงหนาทำให้มลพิษสูง หัวเผามีประสิทธิภาพต่ำและเป็นการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อีกทั้งเชื้อเพลิงที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อเพลิงในหม้อน้ำ เกิดเปลวไฟยาวหรือเกิดการกองของคราบน้ำมันภายในห้องเผาไหม้ เหล่านี้ส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้งานหม้อน้ำเสี่ยงต่อการระเบิดเป็นอย่างยิ่ง

2. การควบคุมการเร่งหรี่แบบขั้นบันได 3-Stage (Hi/Low/off control)

หัวเผาชนิดการควบคุมการเร่งหรี่แบบขั้นบันได 3-Stage มีการทำงาน 3 ระดับ (Hi/Low/off control) โดยใช้หัวฉีด 2 หัว ในการหรี่เร่งการเผาไหม้ ทำให้หัวเผาชนิดนี้สามารถรองรับโหลดที่เปลี่ยนแปลงของหม้อน้ำได้กว้างขึ้นมากกว่าหัวเผาแบบเปิด/ปิด (On/Off control) สัดส่วนการทำงานของหัวฉีดทั้งสองสามารถปรับได้แล้วแต่ความต้องการการรองรับโหลดของการผลิตไอน้ำ เช่น หัว 1 ฉีดน้ำมัน 70% หัว 2 ฉีดอีก 30% รวมเป็น 100%

มี อัตราการหรี่เร่งประมาณ 1.4:1 หรือ หัว 1 ฉีด 30% หัว 2 ฉีด 70% จะมีอัตราการหรี่เร่งประมาณ 3.3:1 การควบคุมหัวเผาแบบนี้มักใช้กับหม้อน้ำขนาดเล็กที่มีความต้องการใช้ไอน้ำ 500 -3,000 kg/h ดังรูปที่ 3 โดยแผนผังการทำงานของหัวเผาแบบขั้นบันได 3-Stage (Hi/Low/off control) แสดงดังรูปที่ 3 ซึ่งการทำงานเริ่มจากเมื่อหม้อน้ำเริ่มจุดติดไฟ หัวฉีดที่ 1 จะทำการฉีดน้ำมันเป็นการทำงานแบบไฟน้อย (Low Fire)

รูปที่ 3 แสดงขนาดของหม้อน้ำที่เหมาะสมกับการควบคุมและแผนผังการทำงานของหัวเผาแบบขั้นบันได 3-Stage (Hi/Low/off control)
*ที่มา : คู่มือการปรับแต่งหัวเผา โครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่นอกเหนือจากโรงงานควบคุม

และในจังหวะเร่งการเผาไหม้ หัวฉีดที่ 2 จะฉีดน้ำมันเพิ่มเข้าไปในห้องเผาไหม้เป็นการทำงานแบบไฟมาก (High Fire หรือ Full Load) พอความดันไอน้ำถึงระดับใช้งานในกระบวนการผลิต หัวเผาก็จะหรี่ลดการเผาไหม้ลงเหลือแบบไฟน้อย และเร่งแบบไฟมากเมื่อต้องการเร่งการผลิตไอน้ำ ทำงานเช่นนี้ตลอดระยะเวลาการผลิตไอน้ำ จนกระทั่งหยุดผลิตไอน้ำ หัวเผาจะถูกตัดการทำงาน (Off)

ดังนั้นการควบคุมการผลิตไอน้ำของหม้อน้ำ ทำด้วยการการเปิดและปิดวาล์วที่ควบคุมการทำงานของหัวฉีดทั้ง 2 หัว สลับกันตามความต้องการการรองรับโหลดของการผลิตไอน้ำ

3. การควบคุมการเร่งหรี่แบบ 4-Stage (Off-Low Fire –Medium Fire – High Fire control)

หัวเผาชนิดการควบคุมการเร่งหรี่แบบขั้นบันได แบบ 4-Stage มีการทำงาน 4 ระดับHi/Medium/Low/off control) โดยใช้หัวฉีด 3 หัว ในการหรี่เร่งการเผาไหม้ ทำให้หัวเผาชนิดนี้สามารถรองรับโหลดที่เปลี่ยนแปลงของหม้อน้ำได้กว้างขึ้นมากกว่าหัวเผาที่มีการควบคุมแบบเปิด/ปิด และแบบขั้นบันได 3-Stage ช่วงที่ต้องการอัตราการผลิตไอน้ำน้อยหัวฉีดที่ 1 จะทำงานส่งผลให้หัวเผาทำงานที่ไฟน้อย (Low Fire) เมื่อต้องการอัตราการผลิตไอน้ำเพิ่มขึ้น หัวฉีดที่ 2 จะทำงานพร้อมกับหัวที่ 1 เป็นการทำงานของหัวเผาแบบไฟกลาง (Medium Fire) และ เมื่อต้องการอัตราการผลิตไอน้ำสูงสุดหัวฉีดที่ 3 จะทำงาน เป็นการทำงานพร้อมกันทั้ง 3 หัวฉีด

ด้วยหลักการทำงานของหัวเผาแบบนี้จะทำให้สามารถหรี่เร่งได้อย่างเหมาะสม เช่นที่อัตรา 0%-20%/30%-65% และ 100% ครอบคลุมการทำงานในสภาวะ Off-Low-Medium-High ตามลำดับ สามารถผลิตไอน้ำได้อย่างมีเสถียรภาพมากกว่าการควบคุมแบบเปิด/ปิด และแบบขั้นบันได 3-Stage การควบคุมหัวเผาแบบนี้มักใช้กับหม้อน้ำขนาดเล็กที่มีความต้องการใช้ไอน้ำ 750 -2,500 kg/h ดังรูปที่ 4  โดยแผนผังการทำงานของหัวเผาแบบแบบ 4-Stage (Off-Low Fire –Medium Fire – High Fire control) 

รูปที่ 4 แสดงขนาดของหม้อน้ำที่เหมาะสมกับการควบคุมและแผนผังการทำงานของหัวเผาแบบ 4-Stage (Off-Low Fire –Medium Fire – High Fire control)
*ที่มา : คู่มือการปรับแต่งหัวเผา โครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่นอกเหนือจากโรงงานควบคุม

เมื่อพิจารณาในแง่ของประสิทธิภาพหม้อน้ำตามภาระการทำงานของหม้อน้ำที่มีการควบคุมแบบต่างๆ แสดงดังรูปที่ 5 จากรูปจะเห็นได้ว่า หม้อน้ำแบบไหลผ่านทางเดียว ประสิทธิภาพหม้อน้ำมีค่าประมาณ 70-98 % ที่ร้อยละความต้องการไอน้ำเท่ากับ 50% หม้อน้ำแบบท่อไฟมีค่าประสิทธิภาพหม้อน้ำอยู่ที่ 75% ส่วนหม้อน้ำแบบไหลผ่านทางเดียวมีค่าประสิทธิภาพหม้อน้ำอยู่ที่ 98% (แบบ 4 stage Once through Boiler) และ 95%  (แบบ 3 stage Once through Boiler)

ประสิทธิภาพหม้อน้ำแบบไหลผ่านทางเดียวมีค่ามากกว่าถึง 23% เมื่อพิจารณาค่าเชื้อเพลิงต่อเดือนพบว่า “หม้อน้ำแบบไหลผ่านทางเดียวที่มีการควบคุมแบบ4-Stage สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงต่อเดือนได้ 133,153 บาทเดือน” เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเชื้อเพลิงของหม้อน้ำแบบท่อไฟ ในทางกลับกันเมื่อพิจารณาที่ภาระหม้อน้ำต่ำๆ ที่ 20% จะพบว่าหม้อน้ำแบบท่อไฟไม่สามารถทำงานได้ แต่หม้อน้ำแบบไหลผ่านทางเดียวทั้งแบบ 3 และ 4 stage ยังสามารถทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพหม้อน้ำเท่ากับ 80% และ 98% ตามลำดับ

รูปที่ 5 แสดงการเปรียบเทียบประสิทธิภาพหม้อน้ำตามภาระการทำงานของหม้อน้ำที่มีการควบคุมแบบต่างๆ
*ที่มา : คู่มือการปรับแต่งหัวเผา โครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่นอกเหนือจากโรงงานควบคุม

4. การควบคุมการเร่งหรี่แบบต่อเนื่อง/ผันแปร (Proportional control)

การควบคุมการทำงานหัวเผาแบบ Proportional Modulating จะใช้การควบคุมความสัมพันธ์กันระหว่างวาล์วเชื้อเพลิงและอากาศแบบชนิดพิเศษ เป็นการควบคุมแบบเป็นคลื่นที่ต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการทำงานแบบตัดต่อหัวเผา ทำให้สามารถทำงานหรี่เร่งหัวเผาได้ในช่วงกว้างอย่างมีเสถียรภาพโดยไม่ต้องตัดการทำงานของหัวเผา โดยวาล์วควบคุมเชื้อเพลิงสามารถหรี่ลงมาได้ในสภาวะต่ำและเร่งเพิ่มขึ้นไปหยุด ณ ตำแหน่งใดๆ ก็ได้ระหว่าง Partial Load และ Full Load

กรณีสภาวะที่ภาระการผลิตไอน้ำน้อยๆ แรงดันไอน้ำต่ำๆ หัวเผาสามารถหรี่การเผาไหม้ได้ในย่านต่ำที่สุด โดยไม่ตัดการทำงานของหัวเผา (Off mode) และสามารถเร่งการเผาไหม้ได้อย่างรวดเร็วไปสู่การทำงานในย่านสูงสุด หัวเผาแบบนี้สามารถลดความสูญเสียในช่วงการ Purge (ไล่ก๊าซก่อนจุดหัวเผาใหม่) ซึ่งเป็นการทำงานปกติของหัวเผาแบบทั่วไปที่มีการตัดการทำงานของหัวเผา

ทั้งนี้การลดการตัดต่อของหัวเผาจะทำให้ หม้อน้ำ หัวเผาและอุปกรณ์อื่นๆ มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น แผนผังแสดงการทำงานของหัวเผาแบบการควบคุมการเร่งหรี่แบบต่อเนื่อง/ผันแปรแสดงดังรูปที่ 1 ทำให้หม้อน้ำที่ใช้หัวเผาชนิดนี้สามารถผลิตไอน้ำได้อย่างมีเสถียรภาพมากกว่าชนิดที่กล่าวมาทั้ง 3 แบบ การควบคุมหัวเผาแบบนี้มักใช้กับหม้อน้ำขนาดเล็กที่มีความต้องการใช้ไอน้ำ 4,000 -15,000 kg/h ดังรูปที่ 6

รูปที่ 6 แสดงขนาดของหม้อน้ำที่เหมาะสมกับการควบคุมและแผนผังการทำงานของหัวเผาแบบต่อเนื่อง/ผันแปร (Proportional control)
*ที่มา : คู่มือการปรับแต่งหัวเผา โครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่นอกเหนือจากโรงงานควบคุม

ในย่านการทำงานที่ต่ำ เช่น 30% ของภาระการผลิตไอน้ำ หัวเผาที่มีการควบคุมแบบ ON/OFF และแบบ 3 Stage (OFF/Low/Hi) จะไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง แต่การควบคุมการทำงานแบบ Proportional ยังสามารถทำงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิงมากกว่าการควบคุมแบบอื่นๆ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า เนื่องจากไม่มีการตัดต่อการทำงานของหัวเผาบ่อย เป็นการลดความสูญเสียในขั้นตอนการไล่ก๊าซไอเสียขณะจุดหัวเผาใหม่ (Purge) แต่ด้วยข้อดีดังกล่าว ทำให้หัวเผาที่มีการควบคุมการเร่งหรี่แบบต่อเนื่อง/ผันแปร (Proportional control) จึงมีราคาสูงกว่าหัวเผาแบบที่มีการควบคุมแบบอื่นๆ

PBS Boiler Final banner

การควบคุมการทำงานของหัวเผาของหม้อแบบแบบไหลผ่านทางเดียว

สำหรับหม้อน้ำแบบไหลผ่านทางเดียวขนาดไม่เกิน 2,500 kg/h จะใช้มีการควบคุมแบบ 4-Stage (Off-Low Fire –Medium Fire – High Fire control)  ที่สามารถรองรับโหลดที่เปลี่ยนแปลงของหม้อน้ำได้กว้างขึ้นมากกว่าหัวเผาที่มีการควบคุมแบบเปิด/ปิด และแบบขั้นบันได 3-Stage และสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงอยู่ที่ 98% แต่กระนั้น การควบคุมการเผาไหม้แบบ 4 stage จะตั้งการควบคุมการเผาไหม้ไว้คงที่ เช่น 0% หากต้องการปิด, 20% หรือ 30% หากต้องการเผาไหม้แบบ Low combustion, 60% หากต้องการเผาไหม้แบบ Medium combustion และ 100% หากต้องการเผาไหม้แบบ high combustion แต่ในการทำงานจริง ถ้าในสภาวะที่ต้องการภาระหม้อน้ำที่ 80% ระบบควบคุมจะต้องทำการเฉลี่ยสัดส่วนการควบคุมระหว่าง Medium-High (60%-100%) ด้วยการเร่งหัวเผาจนถึง 100% จากนั้นหรี่หัวเผาจนเหลือ 60% ทำงานเช่นนี้สลับกันเพื่อให้ได้ภาระ

หม้อน้ำที่ 80% ในทำนองเดียวกันถ้าต้องการภาระการผลิตไอน้ำที่ 10% ระบบควบคุมจะต้องทำการเฉลี่ยสัดส่วนการควบคุมระหว่าง Off-Low (0%-20%) สลับไปมาเช่นเดียวกัน การกระทำเช่นนี้จะส่งผลเสียต่อการผลิตไอน้ำของหม้อน้ำ ดังนี้

  • เกิดการการแกว่งของความดันไอน้ำเนื่องจากต้องควบคุมกลับไปกลับมาระหว่าง 2 สัดส่วน เพื่อให้เกิดการควบคุมเฉลี่ยตามภาระหม้อน้ำที่ต้องการ ก่อให้เกิดการลดลงของประสิทธิภาพดังแสดงในรูปที่ 1 ที่ภาระหม้อน้ำ 80% การควบคุมแบบ 4 stage มีประสิทธิภาพหม้อน้ำที่ 98.3% (เส้นสีเหลือง)
  • เกิดการกระเพื่อมขึ้นลงของระดับน้ำในหม้อน้ำทำให้เกิดไอน้ำที่มีคุณภาพไม่ดี อาจมีน้ำปนไปกับไอน้ำไปสู่กระบวนการ (Carry over)
  • ในการทำงานแบบไม่คงที่ของหม้อน้ำ จะทำให้พัดลมทำงานกระชากบ่อยและเกิดความสูญเสียในจังหวะการเปลี่ยนภาระหม้อน้ำกระทันหัน (Braking loss) ส่งผลต่อการสิ้นเปลืองพลังงาน

เทคโนโลยีการควบคุมไอน้ำแบบ Blue-i system Control technology

หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามาเพื่อลดปัญหาดังที่กล่าว และช่วยในการควบคุมการทำงานหม้อน้ำภายใต้ภาระหม้อน้ำที่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ทำให้เกิดการทำงานของหม้อน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงในย่านภาระหม้อน้ำที่กว้าง (High efficiency zone) เทคโนโลยีนี้ถูกเรียกว่า “ Blue-i system” เป็นเทคโนโลยีที่ควบคุมหม้อน้ำโดยควบคุมการเร่งหรี่แบบต่อเนื่อง/ผันแปร ในช่วงการทำงานแบบ Medium combustion จากการศึกษาโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ ส่วนใหญ่ภาระหม้อน้ำเฉลี่ยของโรงงานจะอยู่ในช่วง 40-80% ดังนั้นในช่วงภาระหม้อน้ำ 40%-80% ด้วยเทคโนโลยี Blue-i system จะทำการหรี่เร่งระบบตามการเปลี่ยนแปลงภาระได้อย่างอัตโนมัติ ด้วยเทคโนโลยี Blue-i system ทำให้เกิดข้อดีการหม้อน้ำแบบอื่นๆ ดังนี้

  • เทคโนโลยี Blue-i system ทำให้การตอบสนองต่อการเปลี่ยนภาระหม้อน้ำได้อย่างทันที ไม่ก่อให้เกิดการแกว่งของความดันไอน้ำ
  • เทคโนโลยี Blue-i system ทำให้ประสิทธิภาพหม้อน้ำมีค่ามากกว่า 98.5% และสูงถึง 98.8% ตลอดช่วงการทำงานแบบ Medium combustion (40%-80%) 
  • เทคโนโลยี Blue-i system ทำให้ในช่วง medium combustion หม้อน้ำสามารถทำงานได้อย่างคงที่ตามภาระไอน้ำที่ต้องการ ทำให้พัดลมทำงานได้นิ่งและไม่เกิดความสูญเสียในจังหวะการเปลี่ยนภาระหม้อน้ำกระทันหัน (Braking loss) ส่งผลให้ไม่สิ้นเปลืองพลังงานในพัดลม 
  • เทคโนโลยี Blue-i system ทำให้หม้อน้ำสามารถทำงานได้อย่างคงที่ ทำให้ไม่เกิดการกระเพื่อมของระดับน้ำในหม้อน้ำ ส่งผลให้ไอน้ำมีคุณภาพดี (Dryness)
  • เทคโนโลยี Blue-i system ทำให้การหรี่และเร่งหม้อน้ำหรือการอุ่นหม้อน้ำ เกิดขึ้นในช่วง Medium combustion (40% Boiler load) ด้วยเหตุนี้ทำให้เป็นการลดระยะเวลาในการผลิตไอน้ำ ซึ่งเป็นการประหยัดทั้งเชื้อเพลิงและพลังงานอีกด้วย แสดงดังรูปที่ 7
ดังรูปที่ 7 การเปรียบเทียบสัดส่วนการควบคุมหม้อน้ำแบบ Conventional type และ Blue-I system

บทสรุป

การควบคุมการเผาไหม้ที่เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ เกิดการประหยัดพลังงานและช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ โดยสามารถแบ่งวิธีการควบคุมการเผาไหม้ประเภทประกอบด้วย

1. การควบคุมการเร่งหรี่แบบเปิด/ปิด (On/Off control) เป็นการควบคุมการเร่งหรี่แบบเปิด/ปิด จะใช้งานกับหม้อน้ำขนาดเล็กกำลังผลิตไม่เกิน 1 ตัน/ซม. จะมีการใช้งานหัวฉีดหัวเดียว ใช้แรงดันในการขับเคลื่อนเชื้อเพลิง ไม่สามารถหรี่เร่ง-ลดเชื้อเพลิงได้อย่างทันที หม้อน้ำที่ใช้ระบบการเร่งหรี่แบบเปิด /ปิดจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าการเรงหรี่แบบอื่นๆ   

2. การควบคุมการเร่งหรี่แบบขั้นบันได 3-Stage (Hi/Low/off control) เป็น การควบคุมการเร่งหรี่แบบขั้นบันไดจะใช้งานกับหม้อไอน้ำขนาดกลางกำลังผลิตไม่เกิน 2 ตัน/ชม. การเร่งหรี่มี 2 ระดับ คือแบบ Low และ แบบ High หม้อน้ำที่ใช้ระบบการเร่งหรี่แบบขั้นบันไดจะมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบการเร่งหรี่แบบเปิด /ปิด เล็กน้อย

3. การควบคุมการเร่งหรี่แบบ 4-Stage (Off – Low Fire – Medium Fire – High Fire control) เป็นการควบคุมการเร่งหรี่แบบขั้นบันไดจะใช้งานกับหม้อไอน้ำขนาดกลางกำลังผลิตไม่เกิน 3 ตัน/ชม. การเร่งหรี่มี 3 ระดับ คือแบบ Low แบบ Medium และ แบบ High โดยการใช้ 3 หัวฉีดในการจ่ายเชื้อเพลิงผ่านวาล์วเพิ่มทีละหัวฉีดหรืออาจมีหัวฉีดเดียว แต่ใช้การเปลี่ยนอัตราการจ่ายเชื้อเพลิงขึ้นแบบขั้นบันได หม้อไอน้ำที่ใช้ระบบการเร่งหรี่แบบขั้นบันไดจะมีประสิทธิภาพมากกว่า 2 แบบแรกแต่หากควบคุมการป้อนเชื้อเพลิงไม่ดี จะทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

4. การควบคุมการเร่งหรี่แบบต่อเนื่อง/ผันแปร (Proportional control) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้เหมาะสำหรับหม้อน้ำขนาดเล็กเช่น หม้อน้ำแบบไหลผ่านทางเดียว ที่ต้องการอัตราการหรี่เร่งแบบรวดเร็วฉับพลันการควบคุมการเร่งหรี่เป็นแบบต่อเนื่อง จะใช้งานกับหม้อไอน้ำขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่กำลังผลิตน้อยที่สุดตั้งแต่ 0.3 ตัน/ชม. ขึ้นไป เป็นการควบคุมการทำงานของหัวฉีดแบบปรับอัตราการไหลของเชื้อเพลิงตลอดเวลา โดยใช้วาล์วเชื้อเพลิงแบบที่ปรับอัตราการไหลได้ สามารถปรับการเผาไหม้ตามภาระการใช้ไอน้ำได้อย่างราบเรียบ ซึ่งโอกาสที่หัวพ่นไฟจะตัดดับมีน้อยกว่าการเร่งหรี่ 3 แบบแรกมาก หม้อไอน้ำที่ใช้ระบบการเร่งหรี่แบบต่อเนื่องจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการเร่งหรี่แบบอื่น 5-10%

5. “Blue-i system” เป็นเทคโนโลยีที่ควบคุมหม้อน้ำโดยควบคุมการเร่งหรี่แบบต่อเนื่อง/ผันแปรตามการเปลี่ยนแปลงภาระได้อย่างอัตโนมัติ ในช่วงการทำงานแบบ Medium combustion ซึ่งสอดคล้องกับการใช้หม้อน้ำ ที่ส่วนใหญ่ภาระหม้อน้ำเฉลี่ยของโรงงานจะอยู่ในช่วง 40-80% ทำให้เกิดการทำงานของหม้อน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงในย่านภาระการผลิตไอน้ำในช่วงกว้าง (High efficiency zone) 

==================================================

และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณข้อมูลสปอนเซอร์ใจดีจาก “บริษัท โปรเฟสชั่นแนล บอยเลอร์ จํากัด” ผู้แทนจําหน่ายเครื่องกําเนิดไอนํ้า IHI อย่างเป็นทางการ 

หากเพื่อนๆสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกเข้าไปดู

ติดต่อฝ่ายขาย เบอร์โทรศัพท์ 092-223-7742  E-mail : [email protected]

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-321-3650  E-mail : [email protected]

Website : www.oncethroughboiler.com

Facebook page : facebook.com/oncethroughboiler

==================================================

แล้วพบกับสาระความรู้ทางด้านงานช่าง และงานวิศวกรรมได้ในโพสต์ถัดๆไปนะครับ หรือสามารถตามสื่อตามๆของเราด้านล่างเลยนะครับ

Website: www.naichangmashare.com
Facebook: https://www.facebook.com/naichangmashare/
Blockdit :  https://www.blockdit.com/naichangmashare
Instragram: https://www.instagram.com/naichangmashare/
Twitter: https://twitter.com/naichangmashare
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCmIPiSeg-uy4k8JYSmknp_g

naichangmashare
Digital Media ที่นำเสนอความรู้ข่าวสารด้านงานวิศวกรรม เทคโนโลยีการผลิต ระบบออโตเมชัน โรบอต 3D การเพิ่มผลการผลิต สมาร์ทโลจิสติกส์ รีวิวสินค้าอุตสาหกรรม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่