ไทยดึงอุตสาหกรรม PCB ลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท

0
PCB Industry
PCB Industry

บีโอไอเผย 8 เดือน ไทยดึงอุตสาหกรรม PCB ลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ทะลุ 70 โครงการขึ้น Top 5 โลก เร่งอัพสกิล รีสกิล คนจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกลป้อน เชื่อเห็นการจ้างงานสูงถึง 100,000 คน ใช้วัตถุดิบในประเทศถึง 100,000 ล้านบาท/ปี วันที่ 17 กันยายน 2567 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนา “ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” จัดโดยเครือมติชนว่า กระแสการลงทุนมีความร้อนแรงมาตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งจะเห็นยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 50 โครงการ ในส่วนนี้ทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดจากอุตสาหกรรม PCB เพิ่มขึ้น 10-15% จึงนับว่าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญมาก

ขณะที่ภาพรวมการลงทุนปี 2566 มีการลงทุนมาที่ไทยมากขึ้น เนื่องจากไทยมีความโดดเด่น ครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2567) มีขอรับส่งเสริม 1,400 โครงการ มูลค่า 450,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เป็นตัวเลขการลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 150,000 ล้านบาท นับเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก ทำให้แต่ละประเทศต่างต้องดึงการลงทุนเข้ามา เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เพื่อให้เข้ามาเป็นซัพพลายเชนและเป็นฐานการผลิต

โดย 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2567) ที่ขอรับบีโอไอในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะเห็นว่าเป็น PCB มีมูลค่า 50,000 ล้านบาท และหากดูช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2561-2567) พบว่ามีมูลค่าการลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ที่เป็นทั้ง PCB และซัพพลายเชนเข้ามา และแน่นอนว่าเมื่อมีการตั้งโรงงานเต็มรูปแบบเฟสแรกจะมีการจ้างงานในอุตสาหกรรม PCB ถึง 20,000 คน และในอนาคตจะสูงสุดถึง 100,000 คน มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ 100,000 ล้านบาท/ปี และสามารถส่งออกได้สูงถึง 700,000 ล้านบาท/ปี ทำให้ไทยอยู่อันดับ 1 ของอาเซียน และจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็น Top 5 ของโลก

ซึ่งขณะนี้เบอร์ต้น ๆ ของโลกคือจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และอีกไม่ช้าไทยจะเข้าไปอยู่ใน Map ของโลก นอกจากนี้ ยังเห็นการกระจายการลงทุนไปยังพื้นที่อื่น ๆ เช่น พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ปทุมธานี ได้กระจายไปในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนี่ทำให้เกิดการจ้างงาน รายได้ เป็นการกระจายลงภูมิภาคมากขึ้น

สำหรับสิ่งที่นักลงทุนเลือกประเทศไทย เพราะดีมานด์โต ไทยมีความพร้อม ขณะเดียวกัน กระแสของโลกกำลังมองหาแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้ง คนที่มีความพร้อม และการสนับสนุนจากภาครัฐ จากนี้จะทำให้ไทยมีต้นน้ำทั้ง PCB เวเฟอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ส่วนปลายน้ำคือเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ รวมถึง AI

ยอมรับว่าเรื่องของคนคือหัวใจสำคัญ ดังนั้น บีโอไอจึงทำงานทั้ง BUILD และ BUY คือการสร้างคนและนำคนเข้ามา ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาบีโอไอจับมือกับทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำ Job Matching โดยดึง 7 บริษัทที่ต้องการคนเข้ามา Matching นอกจากนี้ บีโอไอยังมีหน้าที่ส่งเสริมด้วยการส่งคนไปเทรนเรื่อง PCB ทั้งที่จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ในระยะสั้น ๆ เพื่อให้กลับมาทำงานที่ไทยในอุตสาหกรรม PCB ควบคู่ไปกับการสร้างคนที่ไทยเองยังสร้างไม่ทัน

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมจากมาตรการ LTR visa ที่ให้สิทธิผู้เชี่ยวชาญพำนักระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติในประเทศไทยได้ถึง 10 ปี จะทำให้ไทยได้คนเก่งเข้ามา ขณะเดียวกัน บีโอไอยังต้องอัพสกิล รีสกิลคนที่มีอยู่ เพื่ออัพเกรดจากคนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกล เพื่อสร้างคนให้เร็วป้อนให้กับอุตสาหกรรม PCB ที่ยังสร้างคนไม่ทัน สำหรับปัจจัยในการส่งเสริม PCB คือ การสนับสนุนจากทางภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันบีโอไอให้ทั้งด้านภาษี การยกเว้นอากร รวมถึงส่วนที่ไม่ใช่ภาษี อย่างการถือครองที่ดิน และล่าสุดบีโอไอได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่ให้ครอบคลุมไปถึงตัวซัพพลายเชนครบทั้งหมดแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของคนที่รัฐบาลไทยได้พยายามสร้างไว้รอ การจัด Matching ระหว่างรายใหญ่กับรายเล็กที่เป็นซัพพลายเชนของไทยอย่าง SMEs ทั้งรูปแบบของการร่วมทุน การซื้อขายผ่านงาน Subcon Theca เป็นต้น

รวมถึงการสนับสนุนเรื่องของพลังงานสะอาดและน้ำ เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเอาไว้ให้ ทั้งในส่วนของปริมาณน้ำในการผลิต ด้วยเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นถึง 10 เท่า ขณะเดียวกัน ยังมีการปล่อยน้ำเสียออกปริมาณมาก ดังนั้น การเตรียมเรื่องของรีไซเคิลน้ำคือสิ่งที่ต้องเตรียมไว้เช่นกัน

“ปัจจุบันตัวเลขยื่นขอรับบีโอไอจาก PCB เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 8 เดือนเข้ามาขอบีโอไอกว่า 70 โครงการ ในชอตแรกจะเห็นการลงทุนจากรายใหญ่ ๆ คาดปี 2567 นี้ ทั้งอุตสาหกรรม PCB อาจจะมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท และจะเห็นการทยอยเข้ามาลงทุนของซัพพลายเชนเพิ่มเติม ด้วยบางซัพพลายเชนไทยยังไม่มี และยังไม่สามารถผลิตได้ จึงจำเป็นที่ต้องส่งเสริมการลงทุนในส่วนนี้เพิ่มด้วยเช่นกัน จากนั้นในชอตต่อไปเราจะเห็นการขยายการลงทุนมากขึ้น และในที่สุดไทยจะมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ครบ”

แล้วพบกับสาระดีๆแบบนี้ทางด้านงานช่าง งานวิศวกรรม และอุตสาหกรรมได้ที่ นายช่างมาแชร์ นะครับ

Website: www.naichangmashare.com
Facebook: https://www.facebook.com/naichangmashare/
Blockdit :  https://www.blockdit.com/naichangmashare
Instragram: https://www.instagram.com/naichangmashare/
Twitter: https://twitter.com/naichangmashare
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCmIPiSeg-uy4k8JYSmknp_g

#นายช่างมาแชร์ 

naichangmashare
Digital Media ที่นำเสนอความรู้ข่าวสารด้านงานวิศวกรรม เทคโนโลยีการผลิต ระบบออโตเมชัน โรบอต 3D การเพิ่มผลการผลิต สมาร์ทโลจิสติกส์ รีวิวสินค้าอุตสาหกรรม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่