ตั้งรับ Decoupling พิษ Trade Wars สหรัฐย้ายโรงงานหนีจีน

0
Multi,Exposure,Of,Oil,Refinery,Or,Petrochemical,Industry,With,Thai
Multi,Exposure,Of,Oil,Refinery,Or,Petrochemical,Industry,With,Thai

จากสงครามการค้าสู่สงครามเทคโนโลยี สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก เพราะการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างบิ๊กอุตสาหกรรมโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อสหรัฐผ่านกฎหมาย Chip and Science Act เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ แรงกระเพื่อมไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่มีการผลิตชิปให้พากันออกมาตรการดึงดูดการลงทุนในประเทศ

ฝ่ายจีนไม่ยอมแพ้จึงแก้เกมด้วยการประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกแร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นแร่ที่สำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2566 นี้ ไทยในฐานะประเทศคู่ค้าทั้งสหรัฐและจีน จึงต้องเตรียมพร้อมกับ การแยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมจากจีน หรือ decoupling ในเวทีเสวนา “การเตรียมรับมือกับการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน” ที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้น

ไทยเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า decoupling ระหว่างสหรัฐและจีนส่งผลให้ไทยได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การลงทุนจากจีนในกลุ่มยานยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์ แต่อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุนในไทยก็ยังน้อยกว่าประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่

ดังนั้น ไทยจึงต้องเตรียมเพิ่มศักยภาพทางด้านการผลิต โดยเฉพาะด้านแรงงาน เพื่อตักตวงผลประโยชน์จาก decoupling ที่เกิดขึ้นอย่างมีระบบ โดยมีแผนระยะสั้นและระยะยาวที่สอดรับกัน ตลอดจนเดินหน้ากระจายตลาดส่งออก เพื่อลดความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยที่กระจุกตัว รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศสมัยใหม่ ที่ต้องลดความสลับซับซ้อนของกฎระเบียบ ยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ไม่ใช่เพียงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน แต่ต้องดึงดูดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาทำงานในประเทศด้วย

“หัวใจสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน มีอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางของการออกแบบนโยบาย ที่ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผล สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ ว่าเราทำอะไรได้ เราต้องระวังอะไร และเราพร้อมอะไร และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว”

เสริมแกร่งอุตสาหกรรมด้วย Supply Chain

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้สำหรับประเทศไทยคือ การสร้างศักยภาพและเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) อย่างชาญฉลาดและมีการบูรณาการอย่างครบวงจร

“จีนที่มีห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้กลายเป็นโรงงานโลก ทั้งยังสามารถเป็นผู้นำด้านราคาต้นทุน (cost leadership) ดังนั้น ไทยต้องหาทางอื่นที่ไม่ใช่การแข่งขันเรื่องต้นทุนราคา แต่ต้องเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ส่วนสหรัฐเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงเรื่องแบรนด์ จะเห็นว่าสหรัฐครอบครองสินค้าที่มีมูลค่าด้านการออกแบบ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นตลาดขนาดใหญ่ ดังนั้น หากประสานกับจีนซึ่งเป็นโรงงานโลก และสหรัฐซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคได้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ”

สิ่งแรกตอนนี้จีนเริ่มมองหาตลาดใหม่อย่างเอเชียกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่รอการลงทุน เช่นเดียวกับที่เคยปักหมุดหมายไปที่แอฟริกาและตะวันออกกลางมาแล้ว โดยจีนมีโครงการความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ทำให้สามารถเชื่อมต่อไปยังยุโรปและเอเชียกลางได้

สิ่งที่สองคือ ไทยไม่ควรมองข้ามการเปลี่ยนขั้วการจับเศรษฐกิจทางการค้า โดยเฉพาะ BRICS ประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

สุดท้ายคือ ไทยเป็นจุดหมายสำคัญของนักลงทุนจีนที่กำลังย้ายฐาน เพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งตอบโจทย์ เชื่อมทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ทั้งยังพยายามสร้างระบบการขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งรถ ราง เรือ อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็เป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุนจีน

naichangmashare
Digital Media ที่นำเสนอความรู้ข่าวสารด้านงานวิศวกรรม เทคโนโลยีการผลิต ระบบออโตเมชัน โรบอต 3D การเพิ่มผลการผลิต สมาร์ทโลจิสติกส์ รีวิวสินค้าอุตสาหกรรม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่