ยุคแห่ง “AI Economy” ที่ทุกอย่างถูกขับด้วยด้วยเทคโนโลยี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยต้องรีบฉกฉวยโอกาสในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับดาต้าเซ็นเตอร์ ต่อยอดจากข้อได้เปรียบทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ รวมถึงนโยบายสนับสนุนด้านดิจิทัลที่หลากหลาย ซึ่งทำให้ประเทศกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนจากผู้ให้บริการดิจิทัลและดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลก…
หลังจากเมื่อเดือน ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำ 5 ราย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จัดตั้ง “สมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย(Thailand Data Centre Council หรือ TDCC)” อย่างเป็นทางการ
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ทางสมาคมฯ ได้ประกาศแต่งตั้ง นายทศพล เพ็งส้ม ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฯ คนแรก เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 3 ปี
เขามีประสบการณ์กว้างขวาง และเคยดํารงตําแหน่งสําคัญจำนวนมากอาทิ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานในกระทรวงพลังงาน
นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (National Big Data Institute: NBDi)
ฝ่าความท้าทาย ‘นโยบาย-กฎระเบียบ’
นายทศพล แสดงทัศนะว่า ขณะนี้มีผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่อย่าง อาลีบาบา คลาวด์, หัวเว่ย คลาวด์, เทนเซ็นต์ คลาวด์, อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (เอดับบลิวเอส) และ กูเกิล คลาวด์ แพลตฟอร์ม เข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนสภาพแวดล้อมเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของดาต้าเซ็นเตอร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
จากข้อมูลการคาดการณ์ของ Structure Research ระบุว่า ในปี 2566 ตลาดโคโลเคชั่นดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) มีกำลังไฟมากถึง 10,233 เมกะวัตต์ คิดเป็นประมาณ 40% ของตลาดทั่วโลก ขณะที่ เมื่อถึงปี 2571 กำลังไฟจะเพิ่มขึ้นเป็น 19,069 เมกะวัตต์
แม้ประเทศไทยจะมีขนาดจีพีดีที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน แต่กลับเป็นมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม
เนื่องจากไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในด้านของนโยบายและกฎระเบียบ ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเดินหน้าไปสู่ยุค “AI Economy” ที่กำลังขยายตัว
สร้างโอกาสการเติบโตจาก ‘เอไอ’
สมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย (TDCC) มีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด (Critical Industry) สำหรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทย
โดยมีกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานประกอบด้วย ปรับปรุงนโยบาย ส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ โดยการเร่งแก้ไขกฎระเบียบและใบอนุญาตที่ขัดขวาง เพื่อลดเวลาการเข้าสู่ตลาดและขจัดต้นทุนที่ไม่จำเป็น
ด้วยการร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และสนับสนุนผู้ให้บริการคลาวด์, ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเพิ่ม พร้อมส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์และเพิ่มโอกาสการเติบโตจากเอไอ
ความยั่งยืนและพลังงานทดแทน ร่วมมือกับภาคพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ที่ขับเคลื่อนโดยการให้บริการโฮสต์ GPU แก่ผู้ให้บริการคลาวด์และผู้ให้บริการคอนเทนต์แพลตฟอร์ม และยังให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่เน้นความยั่งยืน
เพิ่มความเชื่อมั่น ดึงนักลงทุนต่างชาติ
การพัฒนาบุคลากร บ่มเพาะและฝึกอบรมบุคลากรในทุกระดับ ขยายและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาดาต้าเซ็นเตอร์ แผนการฝึกอบรมและแผนฝึกงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยร่วมเจรจากับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาบุคลากรในระบบนิเวศ
เป็นตัวกลางพูดคุยและให้คำปรึกษา TDCC จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาหรือความท้าทาย โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและคนไทย
โดยภาพรวมการทำงาน มุ่งสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ ผู้ให้บริการคลาวด์ ผู้ให้บริการคอนเทนต์แพลตฟอร์มอย่างบูรณาการ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบาย พร้อมส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติ
ปัจจุบัน เอไอเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีอิทธิพลต่ออุปสงค์และอุปทานในตลาด การเติบโตเชิงดิจิทัลที่เกิดขึ้นผลักดันให้ผู้ให้บริการคลาวด์และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ มองหาศูนย์ข้อมูลเพื่อจัดตั้งฐานปฏิบัติการ
ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.8% ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินโครงการใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นการลงทุนเชิงรุก แคมเปญซอฟต์พาวเวอร์ระยะสั้น ไปจนถึงโครงการระยะยาวอย่างเเลนด์บริดจ์ (LandBridge) ในพื้นที่ภาคใต้
จุดมุ่งเน้นสำคัญของความพยายามเหล่านี้คือ การดึงดูดการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย