‘รัฐ’ อุดหนุน 50% ตั้งโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ดึงเทคโนโลยีบริษัทยักษ์ใหญ่ลงทุนไทย

0

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยถือว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากมาตรการ EV3.0 และ 3.5 ที่สร้างความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า และทำให้มีการลงทุนของค่ายรถ EV จากต่างประเทศแบรนด์ชั้นนำที่เข้ามายังประเทศไทย ณะที่ยอดขายรถ EV ในปี 2566 มีปริมาณ 7.6 หมื่นคัน เติบโตกว่า 6.5 เท่า และเพื่อรักษาความต่อเนื่องในการขยายตัวของตลาด ทำให้คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) วันที่ 21 ก.พ.2567 ได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งการสนับสนุน EV และการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูงขึ้น ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ค้างมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว

นายนฤตม์ เทอดสถีศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า บอร์ดอีวี ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ 

ทั้งนี้เป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศโทย โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ ภายใต้เงื่อนไขของบีโอไอ

เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน 4 ข้อ ดังนี้

1.ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

2.ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้

3.ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg

4.ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเสนอโครงการ ลงทุนภายในปี 2570

ตั้งเป้าดึงผู้ผลิตเซลล์แบตฯระดับโลก

นอกจากนี้ การสนับสนุนการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ บีโอไอและคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯจะพิจารณากำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยในการให้การสนับสนุนการลงทุนจะเป็นการเจรจาเป็นรายบริษัท โดยขึ้นกับเทคโนโลยี ขนาดกำลังการผลิตที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งขึ้นกับลูกค้าที่ใช้งานแบตเตอรี่ของผู้ประกอบการรายนั้นๆ โดยไทยต้องการที่จะได้ผู้ประกอบการชั้นนำของโลกที่มีการลงทุนในระดับเซลล์เข้ามาในประเทศไทย

อุดหนุนสูงสุด 50% ของมูลค่าลงทุน

ขณะที่ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำที่มีเทคโนโลยีที่สนใจดึงเข้ามาลงทุน ประกอบด้วย

1.บริษัทจากจีน ได้แก่ Contemporary Amperex Technology (CATL) โกชันไฮเทค (Gotion) SVOLT ENERGY TECHNOLOGY หรือ SVOLT บริษัท BYD บริษัท China Aviation Lithium Battery Co. (CALB) บริษัทซันโวดะอิเล็คทริค วิฮิเคิล แบตเตอรี่ จำกัด บริษัท EVE 

2.บริษัทจากญี่ปุ่น ได้แก่ พานาโซนิค 

3.บริษัทจากเกาหลีใต้ ได้แก่ ซัมซุง LG และ SK แบตเตอรี่ 

ทั้งนี้ไทยคาดหวังจะได้บริษัทชั้นนำที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งสิทธิประโยชน์สูงสุดที่สามารถให้ได้ผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันคือการอุดหนุนการสร้างโรงงานแบตเตอรี่ 30-50% ของมูลค่าการลงทุน

“แบตเตอรี่เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม EV ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูลและแพ็คในประเทศหลายราย แต่เรายังขาดต้นน้ำที่สำคัญ คือ การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง” นายนฤตม์ กล่าว

สำหรับการออกมาตรการส่งเสริมครั้งนี้จะดึงบริษัทชั้นนำของโลกมาผลิตในไทย ซึ่งจะช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม EV ไทย และช่วยอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งสอดคล้องทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการสะอาดดำเนินธุรกิจ ได้สิทธิประโยชน์สูงกว่า “บีโอไอ”

ายงานข่าวจากบีโอไอ ระบุว่า แนวทางการอุดหนุนเงินให้ผู้ลงทุนจะดำเนินการผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายอุดหนุนการลงทุกลุ่ม Strategic Investment ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรัฐจะใช้แนวทางการเจรจาให้สิทธิประโยชน์ โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญช่วยกลั่นกรองโครงการเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ประเทศได้รับ

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการเจรจาครอบคลุม 4 ส่วน ประกอบด้วย

1.เงินสนับสนุน 30-50% ของมูลค่าการลงทุน

2.การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี ซึ่งสูงกว่าสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนที่ยกเว้นได้ไม่เกิน 13 ปี

3.การยกเว้นอากรเครื่องจักร

4.การยกเว้นอากรวัตถุดิบ

ซื้อรถบัส-รถบรรทุก EV หักค่าใช้จ่าย 2 เท่า

นอกจากนี้ เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ

สำหรับมาตรการดังกล่าว จะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามา ใช้งานโดยไม่กำหนดเพดานราคาชั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดยมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงการคลังจะออกมาประกาศใช้ไป จนถึงสิ้นปี 2568

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร พิจารณา กำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปโดยคาดว่าจะมีรถทั้งสองประเภทที่เป็นรถ EV ในโครงการนี้ประมาณ 10,000 คัน แบ่งเป็นรถบัสประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกประมาณ 4,000 คน

“การที่บอร์ด EV ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก”

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และตอกย้ำการเป็นศูนย์กลาง EV ของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท โดยไทยพร้อมจะปรับมาตรการ EV ให้มีความยืดหยุ่นและทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วในอนาคต

เพิ่มขอบเขตรถยนต์ไฟฟ้าตอบโจทย์ประเทศ

ทั้งนี้ บอร์ด EV เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 KWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ 

รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐกระตุ้นตลาด EV ในประเทศให้เติบโตก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่า จากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจร โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอให้การส่งเสริมอุตสาหกรรม EV จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น 

รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท , รถจักรยานยนต์อีวี่ 9 โครงการ 848 ล้านบาท , รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท , แบตเตอรี่สำหรับรถ EV และ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท , ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท และสถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท

Credit : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1114350

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่