“เวอร์ชวล ทวิน (Virtual Twin)” มาใช้วางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะและโซลูชันการเดินทางแห่งอนาคต อึง อิค ฮอค ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจบริการสาธารณะและเมือง ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ เปิดมุมมอง พร้อมกับเผยว่า แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ เดินหน้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืนมากขึ้น จากการใช้งาน Virtual Twin
“การพัฒนารูปแบบการเดินทางไปสู่ความยั่งยืนเปิดโอกาสสู่การลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ขณะเดียวกันช่วยสร้างทักษะแรงงานรวมถึงอาชีพใหม่ๆ รองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย“
ปัจจุบัน พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งอัจฉริยะและรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทยและเป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065
นอกจากนี้ สอดคล้องไปกับแผนงานของประเทศไทยที่มุ่งขับเคลื่อนเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศถึง 30% ภายในปี 2030
เปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า
แดสสอลท์ เผยว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของการจัดการระบบขนส่ง โดยในปี 2050 ประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านคน และ 73% จะอยู่อาศัยในเขตเมือง
โดยการขยายตัวของเมืองจะมีอย่างต่อเนื่องตามเทรนด์โลกและก่อให้เกิดความท้าทาย 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความพร้อมและความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือสังคมเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้น ปัญหาการจราจรที่หนักหน่วงขึ้น และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือมลภาวะที่เพิ่มขึ้น
รวมไปถึง การจราจรหนาแน่นจากยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่เป็นตัวการสำคัญของการปล่อยคาร์บอนและทำให้คุณภาพอากาศในเมืองแย่ลง ทำให้เมืองต่างๆ กำลังผลักดันให้เปลี่ยนมาใช้ EV เพื่อลดมลพิษทางอากาศ
เนื่องจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นอนาคตของการเดินทาง การผลักดัน EV ขับเคลื่อนผู้ผลิตยานยนต์ให้ออกแบบ พัฒนาด้านวิศวกรรมและผลิต EV ให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และยั่งยืน
‘เวอร์ชวลทวิน’ กุญแจสำคัญ
ดังนั้น นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในการปรับขนาดการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ช่วยเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์
พร้อมยังสามารถแข่งขันและดึงดูดผู้ผลิตให้เข้ามาเปิดสายการผลิตในโรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม “3 มิติ” และเทคโนโลยี “เวอร์ชวลทวิน” จะช่วยวางแผนด้านโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางในเมืองต่างๆ ทำให้เมืองน่าอยู่และมีความอัจฉริยะยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน มีการนำแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE ของแดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ไปใช้พัฒนายานพาหนะไฟฟ้าสูงถึง 85% ของโลก โดยผู้ผลิตสามารถเร่งกระบวนการพัฒนาและลดต้นทุนการผลิตในด้านต่างๆ ด้วยการสร้างแบบจำลองคู่แฝดเสมือนของรถยนต์และนำไปใช้จำลองการทดสอบสมรรถนะรถยนต์เสมือนจริง
นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังได้รับข้อมูลและความรู้เชิงลึกสำหรับการสร้างที่ยั่งยืนตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ นักผังเมือง ผู้ให้บริการด้านพลังงานและผู้ผลิตยานยนต์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานของสถานีชาร์จอีวี
ปูทางสู่การเดินทางแห่งอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของเมืองตามปัจจัยสำคัญ อาทิ ระยะทาง จำนวนประชากรและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ โดยเทคโนโลยีเวอร์ชวลทวินสามารถช่วยวางแผนและประเมินการเข้าถึงสถานีชาร์จอีวีที่ติดตั้งแล้วได้ ส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดเพื่อพัฒนาการเดินทางในอนาคตให้เกิดขึ้นจริง
เขายังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เวอร์ชวลทวินสามารถใช้เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายผ่านการสร้างโมเดลและการจำลองเสมือนจริง โดยให้ข้อมูลเชิงลึกด้านผลกระทบต่อคุณภาพอากาศจากการเปลี่ยนยานพาหนะ ICE ไปเป็น EV มากขึ้น
ขณะที่กำลังมองไปถึงอนาคตการเดินทาง แต่การปรับปรุงและพัฒนาการเดินทาง ณ ปัจจุบันควรดำเนินต่อไป ซึ่งการวางแผนสร้างทางหลวง ถนนหรือเส้นทางจักรยานใหม่
ตลอดจนปรับปรุงความสะดวกสบายของการสัญจรในเมืองรวมถึงการเดินบนทางเท้าแบบไร้สิ่งกีดขวางสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเวอร์ชวลทวิน