“แรงงานไทย” ในอิสราเอลลอตแรก ที่ทางการไทยกำลังช่วยเหลือ และเตรียมนำตัวเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย 15 ต.ค.นี้ หลังเกิดสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์รุนแรง จนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยจำนวนหนึ่งพบเป็นแรงงานไทย ที่ไปทำงานในอิสราเอล ท่ามกลางความเป็นห่วงของญาติพี่น้องอีกนับหลายร้อยนับพันครอบครัวในไทย ที่เฝ้าติดตามข่าวสาร จากผู้ลงทะเบียนขอกลับประเทศไทยทั้งหมด 3,862 คน
จุดเริ่มต้นสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์
จากหนังสือ “สมรภูมิพลิกอำนาจโลก” ซึ่งเขียนโดย ปิติ ศรีแสงนาม และ จักรี ไชยพินิจ ระบุประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เป็นปัญหาที่มีรากฐานมาอย่างยาวนานหลายช่วงอายุคน เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านศาสนา และเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวาย จากการที่ชาติมหาอำนาจเข้ามามีบทบาทในเรื่องราว บ่อเกิดวิกฤติการเมืองในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นมาเป็นระลอกๆ และทำให้คนในพื้นที่อยู่กันอย่างหวาดระแวง
แต่สำหรับในสายตา “แรงงานไทย” นั้น ดูเหมือนจะต่างออกไป เพราะถ้าพูดถึง “อิสราเอล” จะพบว่าที่นี่กลับเป็นเมืองเป้าหมายที่คนไทยในกลุ่มอยากไปทำงานต่างประเทศ นิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวันเท่านั้น โดยข้อมูลจากกรมแรงงานเผย ปัจจุบันมีคนไทยทำงานในอิสราเอลมากกว่า 25,000 คน ส่วนไต้หวันเกือบ 50,000 คน
กลายเป็นคำถาม พื้นที่สงครามที่น่ากลัวที่สุด และสภาพชีวิตการทำงานที่มักถูกถ่ายทอดออกมาบ่อยๆ ว่าไม่ค่อยสะดวกสบายนักและงานหนัก ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงอยากเข้าไปทำงานในอิสราเอล หรือตัวเลขรายได้ต่อเดือนที่สูง
คนไทยทำงานอะไรบ้าง? ในอิสราเอล
ความต้องการแรงงานต่างชาติในอิสราเอลมีจำนวนมาก โดยเฉพาะงานหนักที่ชาวอิสราเอลมักปฏิเสธ ทำให้อิสราเอลต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ เพื่อมาทำงานดังกล่าวแทน
- ภาคงานเกษตร
- ภาคการก่อสร้าง
- ภาคงานบริการ (ดูแลคนชราและผู้พิการ)
- ภาคอุตสาหกรรมบริการ-ร้านอาหาร
งานที่คนไทยนิยมมากสุดในอิสราเอล คือ งานในภาคการเกษตร ในทุกๆ ปี เดือนมกราคม กระทรวงมหาดไทยอิสราเอล กระทรวงเกษตร และกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงานของอิสราเอล จะทบทวนจำนวนโควตางานเกษตร จัดการแรงงานผิดกฎหมาย อยู่เกินเวลาวีซ่า และอนุญาตให้นายจ้างนำเข้าแรงงานใหม่ๆ เข้าไป โดยมีโควตาต่างชาติต่อปีไม่ต่ำกว่า 26,000 คน
ขณะภาคบริการและร้านอาหารในอิสราเอล คนไทยครองตำแหน่งเป็น Chef และ Cook มากที่สุดถึง 95% ในร้านอาหารไทย จีน และญี่ปุ่น
ส่วนระยะเวลาที่รัฐบาลอิสราเอลอนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานในประเทศได้ 5 ปี (นอกจากงานดูแลคนชราและผู้พิการ ซึ่งสามารถทำงานเกิน 5 ปีได้ คือจนกว่านายจ้างเสียชีวิต) โดยให้วีซ่าปีต่อปี และนับติดต่อกัน ตั้งแต่เดินทางไปทำงานครั้งแรกในประเทศอิสราเอล ไม่ว่าทำงานกับนายจ้างใด