Corrosion Under Insulation [EP.3] : วิธีการตรวจสอบในการหา CUI ในโรงงาน

0
CUI-Corrosion-Under-Insulation-Wallpaper
CUI-Corrosion-Under-Insulation-Wallpaper

สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้เราจะมาต่อกันเรื่องของ CUI กันใน Part 2 นี้นะครับ วันนี้เราจะมาแชร์กันเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบต่างๆที่เป็นที่นิยมสำหรับการตรวจหา CUI กันนะครับ ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนนะครับว่า CUI นี้เองสามารถตรวจสอบได้ยาก เพราะเราไม่สามารถมองเห็นความเสียหายได้จากภายนอก เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ของเราหรือยัง

หากไม่รื้อฉนวนออกมาเพื่อตรวจสอบ ฉะนั้นวันนี้ทีมงานนายช่างมาแชร์จะขอมาแชร์วิธีการตรวจสอบ CUI กันนะครับว่ามีด้วยกันทั้งหมดกี่วิธี และวิธีที่เป็นที่นิยมมีอะไรบ้างและมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร

วิธีการตรวจสอบ CUI สำหรับท่อ Carbon steel และ Low alloy

วิธีการตรวจสอบ CUI มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โดยทั้งหมดจะเป็นวิธีการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย หรือที่เรียกว่า “Nondestructive testing” ซึ่งวิธีการตรวจสอบที่เป็นที่นิยมจะมีอยู่ด้วยกัน 4 วิธีดังนี้ครับ

1. วิธีการตรวจสอบด้วยสายตา (Visual inspection) 

คือวิธีการตรวจสอบพื้นฐานที่สามารถทำได้ง่ายที่สุด สามารถทำได้ทุกคน โดยวิธีการตรวจสอบนี้สามารถทำได้ทั้งแบบที่รื้อฉนวนและแบบไม่ต้องรื้อฉนวน (Invasive and Non-invasive inspection)

Visual,Inspections,Of,The,Weld,Pipe,With,A,Magnifying,Glass
  1. แบบไม่รื้อฉนวน – คือการตรวจสอบสภาพของฉนวนโดยภาพรวม ว่าฉนวนยังมีสภาพดี ไม่มีจุดที่ฉนวนเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดที่เป็นรอยต่อ, วาล์ว หรือจุดที่ฉนวนมีการเปลี่ยนทิศทางจากแนวตั้งเป็นแนวนอน ควรจะต้องสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นจุดที่น้ำสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในฉนวนและขังอยู่ภายในได้ ทำให้เกิด CUI ได้ต่อไป
  2. แบบรื้อฉนวน – คือการวิธีการตรวจสอบที่ถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสามารถตรวจพื้นผิวที่พบความเสียหายได้โดยตรง แต่มีข้อเสียที่มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทั้งการตั้งนั่งร้าน, การรื้อฉนวน รวมถึงค่าฉนวนอันใหม่ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนฉนวนเนื่องจากความเสียหายจากการรื้อถอน อีกทั้งอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิด CUI ได้ในอนาคตหากติดตั้งฉนวนกลับไปในสภาพที่ไม่ดี

2. วิธีการตรวจสอบด้วยภาพถ่ายรังสี (Radiographic testing, RT)

คือวิธีการตรวจสอบแบบไม่ต้องรื้อฉนวนอย่างนึง (Non-invasive inspection) วิธีการตรวจสอบคือให้จุดที่เราต้องการจะตรวจสอบ อยู่ระหว่างอุปกรณ์ฉายรังสีและฉากรับภาพ โดยภาพผลลัพธ์ก็สามารถนำมาพิจารณาเพื่อตรวจสอบความเสียหาย CUI ของท่อหรืออุปกรณ์ของเราได้นั่นเองครับ ซึ่งวิธีนี้ก็จะมีข้อจำจัดเช่น ขนาดของอุปกรณ์ที่จะตรวจสอบต้องไม่ใหญ่มากเกินกว่าฉากรับภาพรังสี และตรวจสอบได้เฉพาะท่อที่เป็น Carbon steel หรือ Low alloy เท่านั้น เป็นต้น

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม การตรวจสอบด้วยวิธี RT (Radiographic Testing)

3. วิธีการตรวจสอบด้วยการวัดความหนา (Ultrasonic thickness measurement, UTM)

วิธีการตรวจสอบแบบจำเป็นต้องรื้อฉนวน (Invasive inspection) วิธีการตรวจสอบแบบนี้คือการใช้คลื่นเสียงส่งผ่านพื้นผิวที่เราต้องการตรวจสอบ เพื่อวัดความหนาของอุปกรณ์หรือท่อที่เหลืออยู่ แต่วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะกับ Carbon steel หรือ Low alloy เท่านั้น นะครับ

ภาพการตรวจสอบแบบ UTM หรือ Ultrasonic thickness measurement

4. วิธีการตรวจสอบด้วยภาพถ่ายความร้อน (Thermography Camera)

คือวิธีการตรวจสอบแบบไม่จำเป็นต้องรื้อฉนวน (Non-invasive inspection) วิธีนี้คือการใช้เครื่องมือกล้องถ่ายภาพความร้อนเป็นอุปกรณ์เสริมในการตรวจสอบด้วยสายตา โดยวิธีการคือใช้ตรวจสอบบริเวณที่มีอุณหภูมิแตกต่างจากบริเวณอื่น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของฉนวนที่เสียหาย หรือสัญญาณว่าอาจมีน้ำที่แทรกตัวเข้าไปอยู่ภานในฉนวน

จบกันไปแล้วนะครับสำหรับ Part 2 ของเรื่อง CUI หวังว่าเพื่อนๆทุกท่านจะได้ทราบถึงวิธีการตรวจสอบเพื่อหา CUI กันมากขึ้นนะครับ ซึ่งจริงๆแล้วการตรวจสอบ CUI ยังมีอีกมากมายหลายวิธีเลยครับ แต่ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตามการตรวจสอบ CUI ควรจะทำอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน เพื่อให้ครอบคลุมและเกิดประโยชน์สูงสุดครับ

ใน Part ต่อไปเราจะมาพูดถึงวิธีการซ่อมแซมและป้องกันปัญหาของ CUI กันต่อไปครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า ขอบคุณครับ

Digital Media ที่นำเสนอความรู้ข่าวสารด้านงานวิศวกรรม เทคโนโลยีการผลิต ระบบออโตเมชัน โรบอต 3D การเพิ่มผลการผลิต สมาร์ทโลจิสติกส์ รีวิวสินค้าอุตสาหกรรม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่