เพื่อนๆหลายคนคงจะเคยได้ยินกันมาบ้างนะครับ สำหรับคำว่า CUI แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะแก้ปัญหานี้ในโรงงานของเพื่อนๆกันด้วยวิธีไหน วันนี้เพจนายช่างมาแชร์ จะขอมาอธิบายกันให้เข้าใจกันแบบง่ายๆกันเลยครับ
CUI คืออะไร?
CUI หรือชื่อเต็มของมันคือ Corrosion Under Insulation หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็จะหมายถึง การกัดกร่อนภายใต้ฉนวนนั่นเองครับ (ต่อไปนี้จะขออนุญาตเรียกสั้นๆว่า “CUI” นะครับ) ไม่ว่าจะเป็นฉนวนกันความร้อน ฉนวนกันความเย็นหรือฉนวนชนิดใดๆก็ตาม
เจ้า CUI นี้สามารถเกิดได้กับแทบจะทุกอุปกรณ์ในโรงงานของเรากันเลยนะครับหากมัน “หุ้มฉนวน” โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับโรงงานที่ใช้งานมาแล้วเป็นระยะเวลานานประมาณนึงครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่ใช้งานมาเป็นเวลานานมากๆ และขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง ไอ้เจ้า CUI นี้สามารถความเสียหายมาให้อย่างใหญ่หลวงเลยแหละครับ
ปัจจัยและสาเหตุในการเกิด CUI
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิด CUI มีด้วยกันหลายข้อเลยครับ หากอ้างอิงกับ API571 จะสามารถแบ่งออกมาย่อยๆได้ดังนี้
- อุณหภูมิใช้งาน (Operating pressure) ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่เป็นตัวกำหนดว่าท่อหรืออุปกรณ์ใดๆของเราบ้างที่สามารถเกิด CUI ได้ครับ
- Carbon steel จะมีโอกาสเกิด CUI หากใช้งานที่อุณหภูมิตั้งแต่ -12 °C จนถึง 175 °C
- Stainless steel จะมีโอกาสเกิด CUI หากใช้งานที่อุณหภูมิตั้งแต่ 60 °C จนถึง 205 °C
- CUI จะเกิดได้รุนแรงที่สุดหากผิวเหล็กอยู่ในช่วงอุณหภูมิ ตั้งแต่ 100 °C จนถึง 121 °C เนื่องจากเป็นอุณหภูมิช่วงที่น้ำที่เกิดขึ้นบนผิวเหล็กเริ่มที่จะระเหยแต่อุณหภูมิไม่สูงเกินกว่าที่จะทำให้ระเหยได้ไวมากพอ ทำให้ Insulation มีความชื้นอยู่นานกว่าท่อหรืออุปกรณ์ที่ใช้ที่ช่วงอุณหภูมิอื่นๆ
- ชนิดของ Insulation, รูปแบบของการติดตั้งฉนวนและสภาพแวดล้อมของที่ตั้งท่อหรืออุปกรณ์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญของการเกิด CUI
- เป็นอุปกรณ์หรือท่อที่ใช้งานเป็นครั้งคราว (Intermittent service) หรือใช้งานที่อุณหภูมิไม่คงที่ จะส่งผลให้เกิด CUI ที่รุนแรงได้ครับ
- คลอไรด์ (Chloride) ไม่ว่าจะจากฉนวนที่ติดตั้งอยู่หรือจากสภาพแวดล้อมที่มีคลอไรด์ในอากาศสูง เช่นโรงงานที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลหรือใกล้กับ Cooling tower ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด CUI ได้รุนแรงมากขึ้นครับ
ส่วนใดบ้างในโรงงานของเรามีโอกาสเกิด CUI
สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างเกี่ยวกับ CUI นั้นก็คือ มันสามารถเกิดขึ้นได้กับอุปกรณ์ที่ถึงแม้จะมีสภาพฉนวนภายนอกที่ดีอยู่ก็ตาม แต่ก็อาจจะมี CUI เกิดขึ้นภายใต้ความสวยงามนั้นก็เป็นได้ โดยจะขอยกตัวอย่างของท่อหรืออุปกรณ์ที่สามารถเกิด CUI ขึ้นได้ดังนี้ครับ
- ตำแหน่งของท่อหรืออุปกรณ์ที่มี Insulation เสียหาย
- ตำแหน่งที่มีลักษณะเป็น Deadlegs หรือจุดที่ไม่มีของภายในไหลผ่านสม่ำเสมอเช่น จุด Vent และ จุด Drain
- ท่อหรืออุปกรณ์ที่มีความเสียหายหรือรั่วซึมของท่อ Steam tracing
- ตำแหน่งที่มีโอกาสน้ำขังภายใน Insulation ได้ ไม่ว่าจะจากการออกแบบของอุปกรณ์หรือการติดตั้ง Insulation ที่ผิดวิธี
แล้วพบกับสาระดีๆทางด้าน งานช่าง งานวิศวกรรม และงานอุตสาหกรรม แบบนี้ได้ในเพจนายช่างมาแชร์นะครับ
Website: www.naichangmashare.com
Facebook: https://www.facebook.com/naichangmashare/
Blockdit : https://www.blockdit.com/naichangmashare
Instragram: https://www.instagram.com/naichangmashare/
Twitter: https://twitter.com/naichangmashare
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCmIPiSeg-uy4k8JYSmknp_g
#นายช่างมาแชร์ #CUI #NDT #Engineering