ภาคการส่งออกนับเป็นช่องทางหลักสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 และยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปในปี 2565 ภายใต้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศไทยเองก็มีที่แนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น แต่กระนั้นความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัยยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” และรวมไปถึงความปัจจัยเสี่ยงต่างๆมากมายที่กำลังคืบคลานเข้ามา จะทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเป็นปีแข็งแรงและก้าวกระโดด หรือเป็นปีที่ถดถอย
5 ระลอกคลื่นภาคผลิตเตรียมรับมือ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 2565 สิ่งที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเตรียมรับมือกับระลอกคลื่นที่นับวันจะทวีความรุนแรงและจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจซึ่งหากไม่เตรียมพร้อมจะกลายเป็นคลื่นที่มีแรงกระแทกสูง ประกอบด้วย 5 คลื่นหลัก ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือ Disruptive Technology ซึ่งกระแสนี้มาแรงระยะหนึ่งแล้ว และทำให้ทุกภาคส่วนเริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพราะมีการคาดการณ์กันว่าเทคโนโลยีจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัล และอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมเก่าๆ ค่อยๆ ถูกโละออกไปจากระบบ
2. ไวรัสโควิด-19 และการมาของโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” นับเป็นคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่โควิดยังคงจะอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกนานพอสมควรทำให้ทุกส่วนต้องปรับตัวอยู่ไปด้วยกัน และกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เร็วขึ้นเพื่อรองรับกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เช่น รูปแบบการทำงานที่บ้าน (Work From Home) การสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หากไม่ปรับตัวก็ย่อมได้รับผลกระทบ แม้ว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมแต่หลายอุตสาหกรรมที่ได้รับโอกาสในการเติบโตจากโควิด-19 ก็มีไม่น้อยเช่นกัน เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
3. กฎกติกาว่าด้วยการลดโลกร้อนภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ที่ประเทศพัฒนาแล้วได้วางแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ขณะที่ไทยวางเป้าหมายไว้ที่ปี ค.ศ. 2065 นับเป็นความท้าทายของภาคส่งออกที่ต้องเตรียมรับกติกาดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมบังคับใช้กฎหมายการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ที่จะนำร่อง 5 สินค้า คือ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ไฟฟ้า ซีเมนต์ ปี 2566
จากนั้นปี 2569 จะบังคับทุกรายการทำให้การส่งออกของไทยต้องมีกระบวนการผลิตที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้ต้องหันมาพึ่งพิงพลังงานสะอาดมากขึ้นแทนฟอสซิล หรือต้องมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เพียงพอ หากไทยไม่เร่งปรับตัวรองรับภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการต้องซื้อ “ใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน” หรือ “CBAM certificates” เพื่อเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียม หรือ “ค่าปรับ” ซึ่งจะมีผลฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และรวมถึงการลงทุนที่อาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตได้
4. การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มต้นด้วยสงครามทางการค้า (Trade War) โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงดำรงอยู่และมีแนวโน้มที่อาจรุนแรงขึ้นได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของโลก มีการย้ายฐานการผลิตเพื่อความมั่นคงของระบบการผลิตของแต่ละประเทศเพื่อให้เกิดครบวงจรมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพิงจากประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้ไทยต้องติดตามประเด็นดังกล่าวเพื่อปรับตัวอย่างใกล้ชิด
5. ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) และอาจขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่า 30% ภายในปี พ.ศ. 2584 เพราะอัตราการเกิดใหม่ต่ำจะกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อตลาดแรงงานเพราะวัยทำงานลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ระดับ 2.0 ที่ยังพึ่งพิงแรงงานจากคนทำให้ไทยต้องหันพึ่งแรงงานข้ามชาติมากขึ้น …และจะยิ่งทำให้ไทยมีภาระด้านสังคมสูง ภาพเหล่านี้ต้องเร่งแก้ไขทั้งโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ไทยก้าวผ่านไปให้ได้
“ไทยเรามียุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และ BCG โมเดลซึ่งจะตอบโจทย์ของการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และความยั่งยืนในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ BCG โมเดล ส.อ.ท.กำลังเร่งพัฒนาไปในทิศทางนี้เพราะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพหากดึงเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่า เช่น อาหารแห่งอนาคต รวมถึงพลังงานหมุนเวียน ไทยจะก้าวพ้นคลื่นที่ถาโถมเหล่านี้ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยนโยบายจากรัฐที่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติให้มีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม”
ที่มา: https://mgronline.com/
แล้วพบกับสาระดีๆแบบนี้ทางด้านงานช่าง งานวิศวกรรม และอุตสาหกรรมได้ที่ นายช่างมาแชร์ นะครับ
Website: www.naichangmashare.com
Facebook: https://www.facebook.com/naichangmashare/
Blockdit : https://www.blockdit.com/naichangmashare
Instragram: https://www.instagram.com/naichangmashare/
Twitter: https://twitter.com/naichangmashare
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCmIPiSeg-uy4k8JYSmknp_g
#นายช่างมาแชร์